×

พริษฐ์ขอพักการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นจริยธรรม หวังไม่ให้เป็นเงื่อนไขคว่ำการแก้รายมาตรา

โดย THE STANDARD TEAM
26.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (26 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคประชาชนเสนอ โดยระบุว่า เส้นทางการจัดทำรัฐธรรมนูญมี 2 เส้นทาง เส้นทางแรกคือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และเส้นทางที่ 2 ที่ต้องทำคู่ขนานกันคือการแก้ไขรายมาตรา เพราะกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลานานและอาจจะไม่แล้วเสร็จทันตามที่กำหนดระยะเวลาไว้ พรรคประชาชน จึงจำเป็นต้องแก้ไขรายมาตราในหลายเรื่อง

 

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ว่านี้แบ่งเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่

 

  • แพ็กเกจ A คือ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศของ คสช. เนื่องจากขาดความชอบธรรมในประชาธิปไตยและเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งแพ็กเกจนี้มีสาระสำคัญคือ ทลายเกราะคุ้มกันคำสั่งและประกาศของ คสช. มาตรา 279 ซึ่งเป็นการเติมพลังด้านการทำรัฐประหาร รวมทั้งเพิ่มความรับผิดชอบสถาบันทางการเมืองเพื่อไม่ก่อให้เกิดการทำรัฐประหาร

 

  • แพ็กเกจ B คือ การตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มี 2 ประเด็น ได้แก่ ยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เพิ่มความเสี่ยงใช้อำนาจตามอำเภอใจ และเพิ่มความเสี่ยงในการใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง ดังนั้น องค์กรต่างๆ ควรจะมีระเบียบการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของตนเองเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจ รวมทั้งปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งเป็นการแก้ไขในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

 

“ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอกย้ำว่าสังคมมองว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่วันนี้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ไม่กล้าแต่งตั้ง เพราะกลัวขัดจริยธรรม แต่รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ อดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับแต่งตั้งได้ โดยไม่ลังเลและไม่นำไปสู่ปัญหาใดๆ” พริษฐ์กล่าว

 

  • แพ็กเกจ C คือ เพิ่มกลไกการตรวจสอบการทุจริต ป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่มอำนาจประชาชนโดยตรงในการร้องเรียนนักการเมือง เพิ่มมาตราเข้าไปเพื่อให้ประชาชนรวบรวม 20,000 รายชื่อ เพื่อเป็นเรื่องด่วนให้ ป.ป.ช. พิจารณาภายใน 180 วัน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลรัฐและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส

 

  • แพ็กเกจ D คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประกอบด้วย ขยายสิทธิเรียนฟรี 15 ปี ยกระดับสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศ บุคคลทุกคนไม่ว่าเพศใดมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งสิทธิ์ในการกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก และเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพ

 

  • แพ็กเกจ E คือ การปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และมีได้เฉพาะช่วงความเสี่ยงภัยสงคราม รวมถึงการกำหนดขอบเขตอำนาจศาลทหาร

 

  • แพ็กเกจ F คือ ยกระดับประสิทธิภาพของรัฐสภาและกลไกกำหนดการมีอำนาจออกคำสั่งเรียก เพื่อขอเอกสารและบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจง ปรับนิยามฝ่ายค้านที่ประธานสภาหรือรองประธานสภามาจากพรรคฝ่ายค้าน เพิ่มอำนาจสภาในการพิจารณาร่างการเงิน

 

  • แพ็กเกจ G คือ การปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ รวมถึงกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำประชามติก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น

 

พักการแก้ไขประเด็นจริยธรรมไว้ก่อน

 

พริษฐ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ขนาดนี้ หลายพรรคก็ยอมรับอย่างตรงกันว่าเป็นปัญหา เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยพูดแล้วว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริงๆ จึงไม่ใช่มีเพียงพรรคประชาชนเท่านั้นที่เห็นปัญหา

 

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อวันนี้มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่ายังไม่พร้อมหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันเพื่อเดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว พรรคประชาชนจึงมองว่ายังจำเป็นที่จะต้องแถลงข่าวสื่อสารกับประชาชนและสังคมว่า ทำไมยังมีความจำเป็นต้องยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

 

พริษฐ์ยืนยันว่าเป็นการเสนอเพื่อปรับปรุงระบบการเมืองให้ดีขึ้น ไม่ได้เสนอเพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวเป็นเงื่อนไข หรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นอื่น

 

“ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเดินหน้าต่อ พรรคประชาชนจึงขอพักการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลได้มากขึ้น แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้มาตราในประเด็นอื่นๆ พร้อมหวังว่าพรรคอื่นๆ จะไม่นำการแก้ไขรายมาตราในเรื่องจริยธรรมมาเป็นข้ออ้าง และเอามาเป็นเงื่อนไขที่จะไม่มองเห็นความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขควบคู่ไปกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

 

พริษฐ์กล่าวด้วยว่า หากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกพรรคการเมืองจึงควรเห็นความจำเป็นในการร่วมมือแก้ไขรายมาตรา ก่อนจะมีฉบับใหม่ที่ชอบธรรม และ 7 แพ็กเกจที่เสนอมาไม่จำเป็นต้องทำประชามติทุกเรื่องและไม่มีแพ็กเกจไหนที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย

 

“ขอขีดเส้นใต้ 100 ครั้ง เราไม่ได้บอกว่านักการเมืองไม่ควรถูกตรวจสอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เสนอนี้เพิ่มกลไกการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำ เราแค่มองว่าการให้องค์กรไม่กี่องค์กรซึ่งประชาชนตั้งข้อสงสัยเรื่องที่มา มานิยามว่าอะไรคือจริยธรรม ตรงนี้คือสิ่งอันตราย อาจมีการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจและกลั่นแกล้งกันทางการเมือง แม้ตอนนี้พรรคอื่นจะไม่พูดปัญหานี้แล้ว แต่เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนก็ยังเห็นพูดกันอยู่” พริษฐ์กล่าว

 

ส่วนเรื่องที่ว่าจำเป็นต้องพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พริษฐ์กล่าวว่าคงต้องพูดคุยทุกแพ็กเกจ เราคาดหวังว่าอยากให้การผลักดันประสบความสำเร็จ ส่วนจะไม่ถูกมองว่าสุดโต่งใช่หรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีร่างไหนที่สุดโต่งถ้ามองย้อนไปที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ใกล้เคียงกับที่พรรคประชาชนเสนอ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X