การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนกำลังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย หันมาซื้อสินค้า ‘ก๊อปเกรดพรีเมียม’ หรือที่เรียกว่า ‘ปิงตี้’ แทนสินค้าแบรนด์เนมราคาแพง
Zheng Jiewen วัย 23 ปี นางแบบและพนักงานบริษัทโฆษณาในกวางโจว เป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เธอเคยมีรายได้ถึง 30,000 หยวน (ประมาณ 1.4 แสนบาท) ต่อเดือนเมื่อเริ่มทำงานเมื่อ 2 ปีก่อน แต่หลังจากที่บริษัทประสบปัญหา เธอถูกหักเงินเดือนลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงครึ่งเดียวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ฉันตกใจมาก” เธอกล่าวกับ CNN และบอกว่าเธอต้องลดการใช้จ่ายลงทันที ไม่มี Louis Vuitton, CHANEL หรือ PRADA อีกต่อไป เธอและเพื่อนๆ หันมาซื้อสินค้า ‘ปิงตี้’ ซึ่งเป็นสินค้าเลียนแบบแบรนด์เนมที่มีคุณภาพสูง บางชิ้นแทบจะแยกไม่ออกจากของแท้ ในขณะที่บางชิ้นได้รับแรงบันดาลใจจากดีไซน์ดั้งเดิม แต่มีสีสันหรือพื้นผิวที่หลากหลายกว่า
Laurel Gu ผู้อำนวยการของ Mintel บริษัทวิจัยตลาดในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า การค้นหาสินค้าปิงตี้บนโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2022-2024 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนที่เคยเป็นผู้ใช้จ่ายสินค้าหรูหราอันดับต้นๆ ของโลก หันมาเลือกซื้อสินค้าทางเลือกที่ราคาไม่แพงแทน ซึ่งกำลังกลายเป็น ‘กระแสหลักใหม่’ (New Normal)
สินค้าปิงตี้อาจมีราคาถูกกว่าสินค้าแบรนด์เนมอย่างมาก ตัวอย่างเช่น กางเกงโยคะ Lululemon Align ราคา 750 หยวน (ประมาณ 3,500 บาท) บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการในจีน แต่สามารถหาซื้อกางเกงเลียนแบบที่มีลักษณะคล้ายกันได้ในราคาเพียง 5 ดอลลาร์ (ประมาณ 164 บาท) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยม
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของสินค้าปิงตี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อยอดขายของ LVMH บริษัทแม่ของ Louis Vuitton ที่มียอดขายในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ลดลง 10% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปี 2023
นอกจากนี้แนวโน้มการซื้อสินค้าปิงตี้ยังส่งผลให้การบริโภคและยอดค้าปลีกโดยรวมซบเซา ข้อมูลเศรษฐกิจตลอดช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาอ่อนแอมาก จนทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่าจีนอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโต 5% ที่ประกาศไว้ในเดือนมีนาคม
เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารกลางจีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 กันยายน) โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลัก และลดอัตราส่วนเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ต้องกันไว้ ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยเงินทุนสำหรับการปล่อยกู้
นอกจากนี้ยังลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่มีอยู่ และลดเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่สองจาก 25% เป็น 15% เพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเศรษฐกิจของจีน
ภาคอสังหาริมทรัพย์เคยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน แต่เริ่มชะลอตัวลงในปี 2019 และตกต่ำอย่างหนักเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการกู้ยืมของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
วิกฤตนี้ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น บุคคลและบริษัทต่างๆ พยายามรักษาความมั่งคั่งของตนเองด้วยการขายสินทรัพย์และลดการบริโภครวมถึงการลงทุน
อ้างอิง: