×

จุลพันธ์ยัน แจกดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 มาแน่นอน แต่เล็งพิจารณาวงเงินใหม่ตามความเหมาะสม เผยมีโอกาสแบ่งจ่ายสูง

25.09.2024
  • LOADING...

จุลพันธ์ยืนยัน แจก ‘เงินหมื่น’ เฟส 2 แน่นอนในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต แต่จะแจก 10,000 บาทหรือไม่ ต้องดูความเหมาะสม เผยมีโอกาสแบ่งจ่ายเป็นเฟสสูง พร้อมปัดข่าวลือแบงก์หักหนี้ก่อนแจกเงินหมื่น ย้ำผลต่อเศรษฐกิจไม่จบแค่กระตุ้น GDP 0.35% เชื่อกลุ่มเปราะบางนำเงินไปใช้จ่ายมากกว่าใช้หนี้

 

วันนี้ (25 กันยายน) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการในเฟสที่ 2 ยืนยันว่าประชาชนจะได้รับเงินอย่างแน่นอนในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต

 

โดยข้อมูลเบื้องต้นจากที่ประชาชนมาลงทะเบียนไว้ 36 ล้านคน เมื่อตรวจสอบรายชื่อที่ซ้ำซ้อนและคุณสมบัติตามเงื่อนไขโครงการแล้ว คาดว่าจะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิจริงราว 26 ล้านคน

 

ส่วนรูปแบบการจ่ายเงินและจะจ่ายเท่าไร ขอพิจารณาความเหมาะสมก่อน เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายมิติ รัฐบาลไม่ได้ดูเพียงการเติมเงินผ่านระบบ หรือการทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการกระตุ้นและลงทุนด้านเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ด้วย

 

“เฟส 2 จะจ่าย 10,000 บาทหรือไม่ ต้องดูความเหมาะสม เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องดูในหลายมิติ ต้องมาพิจารณาตัวเลขผู้ได้รับสิทธิอีกที หากตัวเลขต่างกันไม่มาก รัฐบาลก็มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณได้ในครั้งเดียว แต่ถ้าตัวเลขเยอะและเราต้องมานั่งแบก มาเร่งเครื่องทางการคลังมากเกินไปก็คงไม่ทำ เพราะว่าเราก็ต้องใช้งบประมาณในการทำภารกิจอื่นด้วย ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับการแจกเงินเป็นเฟส” 

 

ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมทั้งโครงการ คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 4.5 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแตะระดับศักยภาพที่ 2% ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพที่รัฐบาลมองไว้ที่ 5% โดยในระยะต่อไป สิ่งที่รัฐบาลจะเดินหน้านอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ ต้องขยายเพดานระดับศักยภาพเศรษฐกิจของไทยผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill-Reskill แรงงาน และการปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรม

 

“ศักยภาพระดับ 2% เป็นระดับที่พวกผมไม่ยอมรับ เพราะว่าเราต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน เราอยากเห็นตัวเลขศักยภาพที่ 5%”

 

ปัดข่าวลือแบงก์หักหนี้ก่อนแจกเงินหมื่น

 

หลังจากการเริ่มโอนเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มผู้พิการและผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐล็อตแรก พบว่ามีการส่งต่อข่าวทางช่องทางออนไลน์ว่า ธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หักเงินเพื่อไปชำระหนี้เดิมก่อน

 

โดยจุลพันธ์ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจนว่า การโอนเงิน 10,000 บาทในครั้งนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย ดังนั้นเมื่อประชาชนได้รับเงินโอนเข้าตามธนาคารที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้แล้ว จะไม่มีการหักเงินออกจากบัญชีอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารใดก็ตาม 

 

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบดูว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุอะไร เพราะการโอนเงินเข้าแล้วถูกหักหนี้เก่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นเม็ดเงินที่ประชาชนผู้ได้รับจะต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ของโครงการ” จุลพันธ์กล่าวอีกว่า “ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิได้รับเงินโอน 10,000 บาท ว่าไม่มีนโยบายให้ธนาคารใดหักเงินจากบัญชีที่ได้รับอย่างแน่นอน”

 

จุลพันธ์กล่าวว่า ตัวเลขการโอนเงินให้กลุ่มเปราะบาง จากเป้าหมาย 3.2 ล้านคน โอนได้แล้วเสร็จประมาณ 3.1 ล้านคน ตกหล่นไม่มากนัก โดยในวันที่ 26 กันยายนนี้ จะโอนอีก 4.5 ล้านคน วันที่ 27 กันยายน จะโอนอีก 4.5 ล้านคน ก่อนโอนส่วนที่เหลือทั้งหมดในวันที่ 28 กันยายน 

 

สำหรับกลุ่มเปราะบางบางส่วนที่ตกหล่น ต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หากเป็นบัตรที่มีการเคลื่อนไหว ตรวจสอบสิทธิแล้วมีเงินเข้าในรายเดือนอยู่แล้วจะได้รับเงินโอนเข้าแน่นอน แต่หากไม่มีการผูกบัญชีไว้กับพร้อมเพย์จะไม่สามารถโอนได้ 

 

2. กลุ่มผู้พิการ ต้องมีการต่ออายุบัตร โดยต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 93,000 คน หากดำเนินการตามเงื่อนไขของ พม. ได้รวดเร็ว การโอนเงินเข้าในรอบถัดไปจะได้รับทันที โดยย้ำว่าให้ไปดำเนินการก่อนวันที่ 3 ธันวาคม 2567

 

ยันผลต่อเศรษฐกิจไม่จบ แค่กระตุ้น GDP 0.35%

 

จุลพันธ์กล่าวว่า การจ่ายเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางนี้ จะช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น การค้าขายต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเม็ดเงินที่ลงไปในครั้งนี้จะช่วยหมุนในระบบเศรษฐกิจได้อีกหลายรอบ ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงานตามมาอีกเป็นระลอก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อดีจากมาตรการแจกเป็นเงินสด เพราะเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็ว และมีส่วนช่วยให้การเติบโตของ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 0.35% 

 

“คาดว่าผลของโครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้อย่างน้อย 0.35% แต่ตัวเลขไม่ได้จบเท่านี้ เพราะจะมีแรงส่งสะท้อนไปถึงเศรษฐกิจในระยะถัดไป ยิ่งหากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเงินส่วนที่เหลือได้เร็ว มีการเติมเงินเข้าไปอีกระลอก ก็จะเกิดแรงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน” 

 

เชื่อกลุ่มเปราะบางนำเงินไปใช้จ่ายมากกว่าใช้หนี้

 

สำหรับข้อกังวลว่าจะมีการนำเงิน 10,000 บาทไปใช้นอกระบบเศรษฐกิจ หรือจ่ายหนี้นอกระบบนั้น จุลพันธ์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่แนวโน้มค่อนข้างต่ำ เนื่องจากกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอจริงๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อประชาชนกลุ่มนี้ได้รับเงินก็จะนำไปใช้อุปโภคบริโภค และใช้ในการลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising