วันนี้ (23 กันยายน) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) การพิจารณาสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาจำนวน 21 คณะ ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญดำเนินการสรรหาแล้วเสร็จ
ในช่วงหนึ่ง เมื่อถึงการพิจารณาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ลุกขึ้นอภิปรายและตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใด สว. ที่มาจากกลุ่มทำนาและทำสวนอย่าง กัลยา ใหญ่ประสาน สว. กลุ่มอาชีพเกษตรกร หรือ เศรณี อนิลบล สว. กลุ่มอาชีพทำสวน กลับไม่ปรากฏชื่ออยู่ในคณะกรรมาธิการดังกล่าว ทั้งที่วุฒิสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์ระบบที่มาของ สว. กลุ่มอาชีพชุดนี้อยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงไม่ใช้ที่มาของกลุ่มอาชีพในการคัดสรรคณะกรรมาธิการหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มอาชีพที่มาก่อน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
รวมถึงปัญหาเรื่องคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งที่ สว. ที่มาจากกลุ่มอาชีพท่องเที่ยวไม่ได้เป็นกรรมาธิการ แต่กลับมี สว. ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มอาชีพท่องเที่ยวได้รับการคัดเลือกถึง 10 คน แล้วเหตุใดจึงไม่พิจารณากลุ่มอาชีพของ สว. ก่อนเป็นลำดับแรก
วิวาทะ สว. ตรงกลุ่มอาชีพ ไม่ได้เข้า กมธ.
ต่อมาเศรณีอภิปรายว่า คณะกรรมาธิการสรรหาไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ เพราะไม่เคยให้ผู้ที่สมัครเป็นคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์แถลงวิสัยทัศน์ว่าใครมีความเชี่ยวชาญ และจะระบุในข้อบังคับทำไมว่าจะพิจารณาตามคุณสมบัติ
“หากจะผิดก็เพราะผมเป็นเสียงส่วนน้อย มีปัญหาใดก็ใช้แต่การลงมติ หรือกลัวว่าผมอยู่ในคณะกรรมาธิการแล้วจะเด่นจะดัง ประชาชนจะอยู่ดีกินดี และแม้ผมจะไม่ได้อยู่ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ผมก็ไม่เดือดร้อน แต่มั่นใจว่าประธานคณะกรรมาธิการไม่ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้” เศรณีกล่าว
ทำให้ พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสรรหาชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการไม่ได้ตกลงกันให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่บางกลุ่มเสนอให้แถลงวิสัยทัศน์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของแต่ละกรรมาธิการฯ ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการสรรหาไม่มีอำนาจระบุว่ากรรมาธิการฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร
เช่นเดียวกับ วุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการสรรหาชี้แจงตอนหนึ่งว่า คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์แม้ไม่มีเศรณีก็ยังทำงานได้ดี
ทำให้ นันทนา นันทวโรภาส สว. ประท้วงว่าเป็นคำพูดที่ไม่ควรพูด เพราะเป็นการด้อยค่า สว. กันเอง เพราะหากตนเองจะบอกว่าวุฒิสภาจะอยู่ได้และอยู่ได้ด้วยดีด้วยถ้าไม่มี สว. วุฒิชาติ ดังนั้นคำพูดเหล่านี้ไม่ควรออกจากปากของ สว. ด้วยกัน พร้อมเห็นว่าการเลือกคณะกรรมาธิการที่ไม่ตรงอาชีพ สว. ไม่ตรงกับสายงาน ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์
จนทำให้วุฒิชาติลุกขึ้นตอบโต้อีกครั้งว่า ไม่ได้ด้อยค่าใคร แต่ขอให้ดูคำพูดของเศรณีก่อนหน้านี้ด้วย และหากวุฒิสภาจะไม่มีตนเอง ตนก็ยินดีพิจารณาตนเอง แต่ขอให้มีเครื่องพิสูจน์
พรุ่งนี้ชิงดำประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการครบทั้ง 21 คณะ และวันพรุ่งนี้ (24 กันยายน) คณะกรรมาธิการแต่ละคณะจะประชุมร่วมกันครั้งแรก เพื่อเลือกตำแหน่งในกรรมาธิการ เช่น ประธาน, รองประธาน, โฆษก และเลขานุการกรรมาธิการ
ขณะที่ พรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สว. ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นหนึ่งในกลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่ ระบุว่า กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชุดนี้เป็นกรรมาธิการเพียงชุดเดียวที่ สว. สายอิสระ หรือ สว. เสียงส่วนน้อย จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการได้เพียงคณะเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้เห็นว่า อังคณา นีละไพจิตร สว. และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. ในฐานะ 2 กมธ.พัฒนาการเมืองฯ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เนื่องจากได้ดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชนและมีผลการวิจัยเรื่องคนจนในเมืองมาทั้งชีวิต จึงน่าจะเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานที่มีศักยภาพมากที่สุด แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะได้รับคัดเลือกเป็นประธานหรือไม่