×

ธนกรหวังรัฐสภารอบคอบหากคิดแก้ รธน. ปมจริยธรรม ส่อถูกมองเอื้อนักการเมืองกันเอง

โดย THE STANDARD TEAM
20.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (20 กันยายน) ที่จังหวัดราชบุรี ธนกร วังบุญคงชนะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน’ 

 

ธนกรกล่าวว่า คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มาเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของคณะกรรมาธิการมีทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการเปิดเวทีอันเป็นช่องทางที่ประชาชนได้สะท้อนปัญหา เสนอข้อร้องเรียนต่างๆ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ได้ 

 

ธนกรยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ของ สส. และรัฐมนตรี ซึ่งฝ่ายค้านโดยพรรคประชาชนก็เห็นพ้องด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตราก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้หรือทำให้เบาลง อาจเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้ 

 

ธนกรชี้ว่า กรอบของคำว่าจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นด่านพิสูจน์เพื่อใช้กลั่นกรองบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ เป็นการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น เพราะหากแต่งตั้งให้คนที่มีความประพฤติผิดทางจริยธรรมเข้ามาบริหารบ้านเมือง อาจส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนได้ 

 

“ผมจึงเห็นด้วยที่ควรยึดและยกมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงให้สูงเข้าไว้ก่อน ผมเชื่อว่าท่าน สส. ท่านรัฐมนตรีทุกคน ต่างก็หวังดีและตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว ประชาชนต้องการผู้บริหารประเทศที่มีมาตรฐาน คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาปกครองบ้านเมือง จึงขอฝากรัฐสภาให้มีการคิดทบทวนในประเด็นนี้ให้รอบคอบ เพราะถ้ารัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบ อาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” ธนกรระบุ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising