วันนี้ (18 กันยายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1 ว่า สืบเนื่องจากวาตภัยและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกหน่วยราชการเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว
โดยที่ประชุมได้ตั้งภารกิจเป้าหมายในการดำเนินการ ดังนี้ ติดตามข้อมูลสถานการณ์ในการติดตามปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังเอ่อล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว, บูรณาการข้อมูล วิเคราะห์สภาพอากาศและปริมาณน้ำ เพื่อแจ้งเตือนและสร้างการรับรู้, ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เตรียมพื้นที่อพยพและที่พักอาศัยให้ผู้ประสบภัย และการจัดส่งอาหาร ตลอดจนเครื่องมืออุปโภคบริโภค อย่างเพียงพอ
ส่วนการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ทันต่อเหตุการณ์ ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นแม่ข่ายดำเนินการ ให้ปรับผังการประชาสัมพันธ์มาที่เรื่องสถานการณ์น้ำเป็นเรื่องหลักในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อป้องกันดราม่าทั้งหลาย ซึ่งขอให้โฟกัสไปที่เรื่องการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก
ภูมิธรรมระบุว่า สำหรับพายุที่เข้าพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าจะจบลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม หลังจากนั้นสถานการณ์ฝนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น ศปช. จะดำเนินการเฉพาะหน้า เพื่อจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องไปจนจบสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะจบในปีนี้
แก้กรอบเยียวยาน้ำท่วมใหม่ภายใน 1 สัปดาห์
ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน ภูมิธรรมระบุว่า วานนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 3,045 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหลักในการจัดการงบประมาณ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที จะดำเนินการให้เร็วที่สุด และพยายามไม่ทำให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย เรื่องที่สำคัญคือการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น จะต้องแยกออกจากความเสียหายในส่วนของพืชผลจากไร่นา
ส่วนเกณฑ์การเยียวยาที่จะปรับใหม่นั้นคาดว่าจะสามารถจบได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้มีมติเห็นชอบ เนื่องจากกฎเกณฑ์นี้ใช้มา 10 กว่าปี และมีปัญหาเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม ได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ 1 ชุด เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาเพิ่มเติมในการทบทวนกฎระเบียบการเยียวยา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปศึกษารูปแบบการเยียวยาและกำหนดจำนวนปริมาณ
นอกจากนี้ที่ประชุมมีการเตือนภัยล่วงหน้า ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, ระบบข้อมูลสารสนเทศกรมทรัพยากรน้ำ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงดีอี ในการตรวจสอบทิศทางลมมรสุมที่จะเข้าสู่ประเทศไทย ที่สามารถมองเห็นตั้งแต่ต้นทาง เมียนมา และจีน พร้อมทั้งประสานงานกับค่ายผู้ให้สัญญาณโทรศัพท์มือถือต่างๆ มาร่วม เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที
ทหารต้องถึงพื้นที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมง
ด้าน พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยว่า กองทัพทำงานอย่างเต็มที่ตามที่ภูมิธรรมสั่งการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับการเตรียมรับมือพายุลูกต่อไปในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พล.อ. ทรงวิทย์ ยืนยันว่า แม้อยู่ในช่วงใกล้เกษียณอายุราชการ ก็จะไม่มีรอยต่อ ทุกคนต้องทำงานจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และเชื่อว่าทหารทุกคนที่จะเกษียณอายุราชการจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาอยู่ในกองทัพไทย อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และจะร่วมมือกับ ปภ. เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้เร็วขึ้น รวมไปถึงหน่วยกองทัพบกมีกำลังพลอยู่ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งเครื่องมือและกำลังพล ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาถือเป็นหน่วยที่อยู่ในสนามอยู่แล้ว จึงต้องถึงที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมงให้ได้ นี่คือเป้าหมาย
พล.อ. ทรงวิทย์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีกำลังทหารประมาณ 300 นาย อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด