วันนี้ (18 กันยายน) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีตากใบของสถานีตำรวจภูธร (สภ.) หนองจิก จังหวัดปัตตานี กรณีเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร มีผู้เสียชีวิต 78 คน
ประยุทธระบุว่า วันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 (พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, วิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, ร.ท. วิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, ปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พ.จ.ต. รัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และ ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8) จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม
แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 กว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาที่ 1 และ ที่ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว
เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 8 มารับข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดได้แจ้งคำสั่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 8 พร้อมแจ้งสิทธิและพฤติการณ์แห่งคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นคนละคดีกับคดีอาญาสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับคำร้อง นัดจำเลยทั้ง 7 คนในคดีมาสอบคำให้การ โดยหนึ่งในนั้นคือ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งปัจจุบันเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย