วานนี้ (17 กันยายน) รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือเรียกตัว พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีตากใบ ให้ไปขึ้นศาลจังหวัดนราธิวาส พร้อมระบุว่า กฎหมายให้การคุ้มครองสมาชิก จึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาว่าจะอนุญาตให้ส่งตัวหรือไม่
รอมฎอนกล่าวว่า หากพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายที่ระบุถึงกรณีที่มีการฟ้อง สส. ในคดีอาญา ความในมาตรานี้เปิดให้ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ โดยระบุเงื่อนไขว่า ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกคนนั้นจะมาประชุมสภา ด้วยเหตุนี้กรณีของ พล.อ. พิศาล จึงไม่จำเป็นต้องขอมติที่ประชุมสภาเพื่ออนุญาตให้เดินทางไปเบิกตัวที่ศาลแต่อย่างใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นัดของศาลครั้งต่อไปกำหนดเป็นวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่โดยปกติแล้วจะไม่มีการนัดประชุมสภาหรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา การไปปรากฏตัวที่ศาลเพื่อเบิกคำให้การในวันนั้นก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นการขัดขวางการประชุมสภาแต่อย่างใด
“หากนับจากวันนัดศาลครั้งถัดไป อายุความในคดีตากใบซึ่งถือเป็นคดีอาญาแผ่นดินก็จะเหลืออีกเพียงแค่ 10 วัน การเดินทางไปศาลของ พล.อ. พิศาล จึงขึ้นอยู่กับสปิริตและความรับผิดชอบของตัวท่านเอง อย่างน้อยๆ ท่านก็ควรให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ตัวเอง จะเป็นการดีมากกว่าปล่อยให้คดีสำคัญนี้ขาดอายุความไป เพราะข้อกล่าวหาเหล่านี้จะติดตัวท่านไปตลอดและไม่ได้รับการพิสูจน์อีกต่อไป”
รอมฎอนกล่าวต่อไปว่า ตนเคยนำประเด็นการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้หารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากทราบว่าญาติของผู้เสียหายในเหตุการณ์ตากใบทำหนังสือถึงประธานสภา ในวันนั้นมีการอภิปรายกันถึงแนวทางและขั้นตอนของสภาในกรณีที่มีสมาชิกตกเป็นจำเลย แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างและยังสับสนกันอยู่ เป็นไปได้ว่าแนวปฏิบัติที่เคยทำกันมาอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุชัดเจนว่า ในกรณีที่สมาชิกเป็น ‘ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน’ นั้น ต้องได้รับมติเห็นชอบจากสภา แตกต่างจากกรณีนี้ที่สถานะคือตกเป็น ‘จำเลย’ ในคดีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นอภิปรายในเวลานั้น
ทั้งนี้ตนได้ทำหนังสือหารือกับสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ทำความเห็นในกรณีนี้เป็นการเฉพาะเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งระบุเงื่อนไขในกรณีนี้ว่า อายุความจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 และวันปิดสมัยประชุมคือวันที่ 30 ตุลาคม 2567 หรือ 5 วันหลังจากนั้น ในขณะเดียวกันศาลจังหวัดนราธิวาสได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 ด้วย
รอมฎอนกล่าวด้วยว่า นอกจากการตัดสินใจไปศาลตามนัดจะเป็นการตัดสินใจของ พล.อ. พิศาล แล้ว คดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่ออำนาจรัฐเช่นนี้คงไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและคณะผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยไปได้ เนื่องจากจำเลยเป็นสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อของพรรค
ตนจึงขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยให้คำแนะนำและโน้มน้าวใจให้จำเลยที่ 1 เดินทางไปที่ศาลตามวันนัด เพราะนอกจากอายุความกำลังจะสิ้นสุดแล้ว ยังเป็นการยืนยันให้ประชาชนได้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ประเทศของเรายังคงปกครองด้วยหลักนิติธรรม และประชาชนยังคงสามารถให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมได้ อีกทั้งยังเป็นหนทางในการต่อสู้คดีและพิสูจน์ความจริงของจำเลยด้วยเช่นกัน
“ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อจากนี้ได้อย่างไร หากอายุความของคดีตากใบต้องสิ้นสุดลงเพราะ สส. ของพรรครัฐบาลไปเบิกคำให้การไม่ทันเวลา ทั้งๆ ที่ศาลท่านประทับรับฟ้องแล้ว หลังจากนี้ประชาชนจะเชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐและแนวทางของรัฐบาลที่กำลังจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร” รอมฎอนทิ้งท้าย
สำหรับความคืบหน้าคดีตากใบล่าสุด โฆษกสำนักอัยการสูงสุดได้นัดสื่อมวลชนเพื่อรับฟังการแถลงข่าวกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งคดีตากใบในวันนี้ (18 กันยายน) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยคดีดังกล่าวตำรวจภูธรภาค 9 ได้รื้อฟื้นและทำสำนวนขึ้นมาใหม่ ก่อนจะส่งให้อัยการพร้อมความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 โดยเป็นคนละสำนวนกับคดีข้างต้นที่ราษฎรฟ้องและศาลจังหวัดนราธิวาสได้ประทับรับฟ้องไปก่อนหน้านี้