×

ประธานสภายังไม่ได้รับหนังสือเรียกตัว พล.อ. พิศาล จำเลยคดีตากใบขึ้นศาล

โดย THE STANDARD TEAM
17.09.2024
  • LOADING...
คดีตากใบ

วันนี้ (17 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีศาลจังหวัดนราธิวาสส่งหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอออกหมายเรียก พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในจำเลยคดีตากใบ

 

ประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิสมาชิกรัฐสภา กำหนดไว้ว่า หากศาลเห็นว่าจะต้องดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุมหรือนอกสมัยประชุม สามารถทำได้แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการประชุมของสมาชิกรัฐสภา หรือรบกวนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถือเป็นเนื้อหาใหม่ที่เติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้เห็นว่าอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการนั้นแยกออกจากกัน

 

วันมูหะมัดนอร์ยกตัวอย่างกรณีศาลจังหวัดพัทยา ในคดีของ อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็มีการดำเนินคดี แต่ไม่ได้มีการจับกุมหรือนำตัวอดิศรไป แต่ส่งทนายไปเป็นตัวแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

สำหรับกรณี พล.อ. พิศาล นั้น วันมูหะมัดนอร์เปิดเผยว่า ยังไม่มีหนังสือจากศาลส่งมาที่ตน และศาลก็เตรียมออกหมายเรียกด้วย แต่สภายังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว หากสภาได้รับเอกสารแล้ว สภาก็จะรีบพิจารณาโดยเร็ว พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการรับฟังนโยบายจากพรรคเพื่อไทยหรือฝ่ายใดๆ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเนื้อหาใหม่ที่เพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่เคยมีกรณีดังกล่าวเลย

 

ส่วนกรณีที่ พล.อ. พิศาล ลาประชุมไปในระยะหนึ่ง วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า หนังสือลาประชุมไม่ได้ถูกส่งมาที่ตน เพราะปกติแล้วหนังสือลาประชุมจะถูกส่งไปที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเหตุผลของการลาซึ่งเป็นสิทธิของสมาชิก

 

ด้านว่าที่ ร.ต.ต. อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่ว่า หากศาลจังหวัดนราธิวาสมีหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอจับกุมดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภา หลักความคุ้มกันก็จะเป็นไปตามที่ประธานรัฐสภากล่าวไว้ โดยมีความเป็นมาคือ เพื่อคุ้มครองสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติในการปฏิบัติหน้าที่ หากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการจะดำเนินการใดๆ ในสมัยการประชุม จะต้องขออนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะมีการทำหนังสือถึงประธานสภาให้เปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาว่าจะให้ส่งตัวไปดำเนินคดีได้หรือไม่

 

ว่าที่ ร.ต.ต อาพัทธ์ ยังยกคดีในอดีตที่สมาชิกรัฐสภาประสงค์ไม่ใช้สิทธิในการคุ้มกัน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดี แต่ตามปกติที่ประชุมรัฐสภาจะไม่อนุญาต เนื่องจากจะต้องมองภาพรวมในสถาบันนิติบัญญัติว่า ต้องมีหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ในสมัยประชุม แม้ตัวสมาชิกจะประสงค์สละสิทธิ์ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะอนุญาตหรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับหนังสือขอลาประชุมของ พล.อ. พิศาล นั้น ว่าที่ ร.ต.ต ตรีอาพัทธ์ กล่าวว่า จะต้องไปตรวจสอบที่สำนักบริหารงานกลางเพื่อดูในรายละเอียดต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X