×

นักวิชาการชี้ ปัญหาแม่น้ำโขง-อีสานล้น มาจากน้ำฝนลาว ไม่รุนแรงเท่าน้ำท่วมเชียงราย แต่ห้ามประมาท ต้องรับมือถึงตุลาคมนี้

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2024
  • LOADING...

เหตุการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จังหวัดเชียงราย สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อประชาชนชาวไทยอย่างยิ่ง 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนกำลังจับตาคือมวลน้ำเหนือที่กำลังไหลไปยังแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

 

แม้นักวิชาการส่วนใหญ่จะมองว่าสถานการณ์มวลน้ำโขงจะไม่รุนแรงเท่าน้ำจากภาคเหนือ แต่หากดูรายละเอียดแล้ว กลับพบว่ายังมีข้อสังเกตและข้อกังวลบางประการ ทั้งปริมาณน้ำจากเขื่อนในประเทศจีน, ปริมาณน้ำฝนของ สปป.ลาว, ปัญหาพายุยางิในประเทศเวียดนาม และปริมาณน้ำฝนจากบริเวณอื่นๆ 

 

วานนี้ (13 กันยายน) รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ สัมภาษณ์ รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ถึงปัญหาเขื่อนประเทศจีนปล่อยน้ำผสมโรงแม่น้ำโขง ความน่ากังวล และสภาวการณ์น้ำในประเทศไทยจากนี้

 

น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนประเทศจีน ส่งผลกระทบลุ่มน้ำโขงและประเทศไทย?

 

“ที่ประเทศไทยกำลังเจอมวลน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผลจากปริมาณน้ำฝนใน สปป.ลาว” รอยลเริ่มขยายความ

 

หากดูสถานการณ์จะพบว่า มวลน้ำจากจังหวัดเชียงรายจะต้องไหลผ่านไชยบุรี และผ่านเขื่อนอีก 2 เขื่อน น้ำถึงจะเดินทางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฉะนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณน้ำฝนส่วนหนึ่งมาจากเขื่อนในประเทศจีนอย่างแน่นอน 

 

โดยปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่ตกพื้นที่ด้านล่างหรือท้ายเขื่อน อีกทั้งความสามารถในการกักเก็บของเขื่อนประเทศจีนแทบไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่รับน้ำในประเทศจีนค่อนข้างแคบ หากเทียบกับพื้นที่รับน้ำที่ใหญ่มักอยู่ในไทยและ สปป.ลาว เป็นหลัก ฉะนั้น ไทยต้องบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง และต้องทราบว่าภูมิประเทศเป็นอย่างไร

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 12 แห่ง ใกล้ไทยสุดคือเขื่อนจิ่งหง ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ 340 กิโลเมตร ซึ่งปล่อยน้ำประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ในระดับที่หน่วงเอาไว้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อฝนตกลงมาเติมเยอะมาก เกิดน้ำหลาก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว 

 

“หากสังเกตพายุยางิที่ประเทศเวียดนาม สปป.ลาว ตอนเหนือจะได้รับผลกระทบทันที คนเลยไปมองว่ามวลน้ำมาจากปริมาณน้ำที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แต่จริงๆ แล้วมันมาจากมวลน้ำในหลากหลายพื้นที่” รอยลกล่าวเพิ่ม

 

ประชาชนเดินทางฝ่าน้ำท่วมสูง จังหวัดเชียงราย

ภาพ: LILLIAN SUWANRUMPHA  / AFP

 

ความรุนแรงมวลน้ำอีสานไม่เท่าน้ำเหนือ?

 

“ความรุนแรงของน้ำจะไม่รุนแรงเท่าเชียงราย เพราะเป็นระดับน้ำหลาก ไม่ใช่ระดับน้ำเท้อ และฝนตกหนักสั้นๆ 1-2 วัน” รอยลยืนยัน

 

หากไล่ทิศทางฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มจากด้านตะวันออก บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ก่อนเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกและตอนล่าง เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ และศรีสะเกษ 

 

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ลักษณะทะเลปี 2567 คล้ายกับปี 2553 ซึ่งปลายเดือนกันยายนปี 2553 นั้น จะมีฝนพาดผ่านจากจังหวัดนครสวรรค์ไปถึงบุรีรัมย์ ซึ่งต้องจับตาต่อเนื่อง แต่อีกมุมยังโชคดี เนื่องจากป่าอนุรักษ์ฟื้นตัวขึ้นถึงร้อยละ 30 ประกอบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มทำสวนทุเรียนและสวนยางพารา ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้สภาพอากาศปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกได้พอสมควร

 

กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบน้ำท่วม? 

 

ระดับน้ำที่ไหลผ่านค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงต่ำมาก อยู่ในระดับ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยระดับความจุน้ำสามารถรองรับได้ถึง 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากเทียบกับน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งไหลผ่านเกือบ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือฝนจากภาคกลาง ไม่ใช่ฝนจากภาคเหนือ แต่กรุงเทพมหานครต้องเตรียมพร้อมระบบปั๊มและระบบสูบน้ำเช่นกัน เนื่องจากเจอสถานการณ์น้ำรอระบายค่อนข้างบ่อย

 

เจ้าหน้าที่จัดเรียงกระสอบทรายป้องกันน้ำเหนือบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

สภาวการณ์น้ำท่วมไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ?

 

“สถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงราย คงเร็วๆ นี้ที่จะกลับสู่ความปกติ แต่อย่าเพิ่งประมาท” รอยลกล่าว

 

เนื่องจากถ้าประเมินจากฤดูฝนตอนนี้ แนวของน้ำฝนเคลื่อนตัวไปประเทศจีน แต่เมื่อเข้าสู่ปลายเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคมจะกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมรับมือและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ตลอดเวลา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X