×

พิพัฒน์แจงขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอผลหารือไตรภาคี เผยภูมิใจไทยเล็งเสนอลาคลอด 120 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2024
  • LOADING...
ค่าแรงขั้นต่ำ

วันนี้ (13 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลุกขึ้นชี้แจงเป็นรายประเด็นเกี่ยวกับนโยบายแรงงาน เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ โดยย้ำว่า การดูแลกระทรวงแรงงานต้องทำใน 2 มิติ คือมิติของผู้ใช้แรงงานและมิติของผู้ประกอบการ หากเราไม่มีมิติของผู้ประกอบการแล้วเราจะมีมิติของผู้ใช้แรงงานได้อย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างต้องหาความสมดุลให้ได้ดีที่สุด หากเอียงหรือหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่งเชื่อว่าก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

 

พิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้คิดและพิจารณาหารือในหลายๆ มิติว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ต้องมีความเหมาะสมของเวลาว่าจะเริ่มได้เมื่อไร ซึ่งก็ได้ให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งว่า เราจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งรัฐมนตรีจะไม่สามารถแทรกแซงหรือกดขี่คณะกรรมการไตรภาคีได้ และจะเชิญปลัดกระทรวงที่เป็นประธานบอร์ดไตรภาคีในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำมาหารือกันว่า นโยบายของรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างไร

 

ถึงแม้ว่านโยบายของ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไม่ได้บรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ส่วนทำไมต้องรอถึงวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพราะต้องรอคณะกรรมการไตรภาคีที่จะประชุมในวันที่ 17 และ 24 กันยายนนี้ เมื่อเราได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการไตรภาคี ก็จะประกาศขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 ตุลาคมได้

 

ส่วนแรงงานภาคใดที่ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม เราก็จะพิจารณาและประกาศอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัดแล้วนำมาเสนอที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้น เราจะดำเนินการอย่างแน่นอน

 

สำหรับเรื่องสิทธิวันลาคลอด ในอดีตเราให้ที่ 90 วัน แต่ปัจจุบันขยายให้ถึง 98 วัน โดยนายจ้างรับผิดชอบ 49 วัน ประกันสังคมรับผิดชอบ 49 วัน ซึ่งตนจะนำเสนอในรัฐบาลชุดนี้ แต่ได้ทราบว่าพรรคประชาชนก็จะนำเข้าเสนอต่อในร่าง พ.ร.บ. วันลาคลอด ที่ได้นำเสนอ 180 วัน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้มีข้อเสนอว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเจอกันคนละครึ่งทางที่ 120 วัน ซึ่งตนไม่ขัดข้อง แต่ขอให้สภาได้ตัดสิน ทางกระทรวงแรงงานเราพร้อมที่จะปฏิบัติตามในกรณีที่สภาได้ลงมติร่วมกัน

 

ขณะที่กรณีการพัฒนาประสิทธิภาพของกองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลปัจจุบันที่สมาชิกรัฐสภาได้ทวงเงินจากรัฐบาลให้กับกองทุนประกันสังคมนั้น คาดว่าภายใน 7 ปีจะใช้หนี้ให้กับกองทุนประกันสังคมได้หมด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising