SCB EIC ห่วงปัญหาว่างงานเริ่มลามจาก ‘ภาคผลิต’ สู่ ‘ภาคบริการ’ แล้ว หลังอัตราว่างงานไทยครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานในภาคบริการก็ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวไม่ทั่วถึง ชี้หากปัญหาในตลาดแรงงานลามเป็นวงกว้างอาจกดอุปสงค์ในประเทศ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราการว่างงานของไทยปรับสูงขึ้นบ้าง ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.04% ขณะที่ภาคบริการเริ่มมีสัญญาณอัตราการว่างงานสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนส่ง ขายส่งและขายปลีก ที่พักแรมและร้านอาหาร
“ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณไม่ใช่แค่ภาคการผลิต แต่เป็นภาคบริการด้วย โดยหากปัญหาลามจากภาคการผลิตไปภาคบริการนับเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เนื่องจากภาคบริการเป็นภาคที่มีแรงงานเยอะ ถ้าลามเมื่อไรก็จะกดอุปสงค์ในประเทศให้ลดลงไปอีก” ดร.สมประวิณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เศรษฐกิจไทยเสี่ยง Hard Landing สวนทางโลกที่กำลังฟื้น SCB EIC หั่น GDP ปีหน้าเหลือ 2.6% ต่ำกว่าศักยภาพต่อเนื่อง
- คนไทยว่างงานพุ่งแตะ 4.3 แสนคน สูงสุดรอบ 4 ไตรมาส หากเศรษฐกิจไม่ฟื้น คนเสี่ยงตกงานต่อ
- ถ้าไม่มี ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เศรษฐกิจไทยต้องการอะไร?
นอกจากนี้ ดร.สมประวิณ ยังระบุอีกว่า ดัชนีการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาพรวมก็ ‘ปรับลดลงต่อเนื่อง’ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรม ก่อสร้าง ไปจนถึงภาคบริการ เช่น บริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง ขายส่งและขายปลีก
ขณะที่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาคเกษตร โรงแรม และร้านอาหาร เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามรายได้เกษตรกรที่เติบโตดีและการฟื้นตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยวไทย
หากภาคการผลิตและบริการไม่ดี แรงงานไทยจะหนีไปภาคเกษตรได้หรือไม่
SCB EIC กล่าวอีกว่า รายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัวในปีหน้า ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลง จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในปี 2568 ได้เช่นในปีนี้
ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริโภคเอกชน เนื่องจากมีกำลังแรงงานราว 12 ล้านคน (ในปี 2566) พึ่งพารายได้จากภาคเกษตร
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ลดลงตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลง 0.4%YoY หรือลดลงจากไตรมาส 2/66 ส่วนจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.3 แสนคน นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส หรือนับตั้งแต่ไตรมาส 2/66