วันนี้ (13 กันยายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายที่มีกระแสข่าวว่าไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
อนุทินยืนยันว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงรายได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัตินานแล้ว และเป็นสิ่งแรกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำ จึงขอให้เชื่อมั่นในระบบราชการ ไม่พลาดเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ หากไม่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจะใช้เงินสำรองออกไปได้อย่างไร ซึ่งเมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า หากเงินไม่พอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายขยายวงเงิน แสดงว่าประกาศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนกรณีที่มวลน้ำเตรียมหลากไปในพื้นที่ภาคอีสาน ในจังหวัดหนองคายและนครพนม อนุทินกล่าวว่า ก็ต้องเร่งระบายน้ำลงไปพื้นที่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ซึ่งเท่าที่ทราบจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายจะต้องผ่านอำเภอแม่อายที่มีเหตุการณ์ดินถล่ม ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของน้ำผ่านจังหวัดเชียงราย เชียงแสน ซึ่งต้องเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด
ส่วนปัญหาขณะนี้ที่ทางการจีนมีการปล่อยน้ำลงมา อนุทินกล่าวว่า เราก็ต้องแก้ปัญหาในส่วนของเรา ส่วนการรับมือมวลน้ำในภาคอีสาน มั่นใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดน้ำหลากต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุ แต่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการช่วยเหลือการอพยพ การสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหาร และศูนย์อพยพ จังหวัดเชียงรายจะถือเป็นโมเดลที่ดีที่ประชาชนมีน้ำใจซึ่งกันและกัน และเจ้าของโรงแรมในพื้นที่หลายแห่งให้พี่น้องประชาชนได้เข้าไปพักพิงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
อนุทินยังเผยว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีระบุว่า ไม่ได้จะต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปทำบัญชีและชดเชยให้ ซึ่งวันนี้ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.4) จะลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย
ส่วนในพื้นที่อำเภอแม่สายที่สถานการณ์ขณะนี้เริ่มคลี่คลายแล้วเข้าสู่ช่วงฟื้นฟู และมีการฟื้นฟูร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เงินเยียวยาสูงสุดตามกรอบงบประมาณแล้วจะได้ประมาณเท่าไร อนุทินกล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีจะของบกลางไปเองเลย และธีรรัตน์จะลงพื้นที่ในนามกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทยก็อยู่ในพื้นที่ การหาวิธีการช่วยเหลือเยียวยาก็จะเกิดขึ้น ยิ่งนายกรัฐมนตรีไปอยู่หน้างานก็จะยิ่งตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น พร้อมย้ำว่า ได้ประเมินมวลน้ำที่จะมาจากเมียนมาตลอดเวลา
ส่วนจะต้องมีการช่วยเหลือเรื่องใดเพิ่มเติมหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ตอนนี้องคาพยพทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกู้ภัย เยียวยา ก็อยู่ในพื้นที่แล้ว อีกทั้งยังมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่มีเครื่องมือเครื่องจักรที่สแตนด์บายในพื้นที่พร้อมทันทีหากมีการร้องขอ ณ สถานการณ์ปัจจุบันทุกอย่างมีความเพียงพอ ซึ่งผู้สื่อข่าวก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในบ้านให้อพยพออกมาได้อย่างปลอดภัย