×

‘โมโห เกรี้ยวกราด ขาดวุฒิภาวะ’: เมื่อแฮร์ริสเปลือยตัวตนของทรัมป์ให้ชาวอเมริกันเห็นด้วยตาตัวเองอีกครั้งในศึกดีเบต

12.09.2024
  • LOADING...
แฮร์ริส

ในช่วงค่ำของวันอังคารที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน ปะทะกันซึ่งๆ หน้าในเวทีดีเบตเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไบเดนถอนตัวจากการเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครต และส่งไม้ต่อให้แฮร์ริสขึ้นมาเป็นผู้แทนพรรคคนใหม่ (ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องจากผลงานดีเบตอันย่ำแย่ของเขานั่นเอง)

 

บทความนี้จะไปวิเคราะห์ถึงผลที่อาจเกิดหลังจากการดีเบต ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่าเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดของแฮร์ริส

 

ทรัมป์ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้

 

ทรัมป์ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการดีเบตครั้งแรกกับไบเดน เพราะเขาสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี และพยายามพูดถึงแต่เรื่องที่ชาวอเมริกันเชื่อมือเขามากกว่าพรรคเดโมแครตอย่างเรื่องเศรษฐกิจและผู้อพยพ ซึ่งเมื่อรวมกับภาพของไบเดนที่ดูอ่อนล้าและชราภาพอย่างมาก ก็ทำให้กลายเป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาดในการดีเบตครั้งแรก

 

อย่างไรก็ตาม ในการดีเบตครั้งที่สองนี้ เขาต้องเผชิญคู่แข่งที่มีพลังงานและความสดใหม่มากกว่าอย่างแฮร์ริส และแฮร์ริสก็รู้ดีว่าทรัมป์มีจุดอ่อนเรื่องการควบคุมอารมณ์ จึงพยายามยั่วโมโหเขาด้วยการพูดโจมตีในเรื่องที่เป็นจุดตายทางอารมณ์ของเขา เช่นเรื่องจำนวนคนที่ไปฟังการปราศรัยหาเสียงของเขา, เรื่องที่เขาเคยล้มละลายถึง 6 ครั้ง, คดีความต่างๆ ที่เขาถูกฟ้องร้อง และโจมตีว่าผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างพากันหัวเราะเยาะเขาในความไม่รู้เดียงสาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการแสดงออกทางสีหน้าที่แฮร์ริสเหมือนจะยิ้มเยาะและหัวเราะใส่เขาตลอดเวลา

 

ซึ่งกลยุทธ์ของแฮร์ริสก็ได้ผล ทรัมป์ดูจะหัวเสียอย่างมากและแสดงความเกรี้ยวกราดออกมาทางสีหน้าและภาษาที่เขาใช้ ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างไปจากดีเบตครั้งแรกที่เขาดูมีความสุขุมสมเป็นผู้นำประเทศ

 

ดีเบตในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของทรัมป์

 

ความหงุดหงิดหัวเสียของทรัมป์นี้เอง ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองให้พยายามคุมประเด็นให้อยู่ในเรื่องที่เขามีความได้เปรียบเหมือนกับคราวดีเบตกับไบเดนได้ (ที่เขาคุมประเด็นให้การดีเบตนั้นคุยกันแต่เรื่องเศรษฐกิจและปัญหาผู้อพยพ) ในทางตรงกันข้าม ทรัมป์ต่อล้อต่อเถียงกับแฮร์ริสในประเด็นที่ชาวอเมริกันเชื่อมือพรรคเดโมแครตมากกว่าเขา อันได้แก่เรื่องสิทธิในการทำแท้ง, นโยบายประกันสุขภาพ (ที่ทรัมป์ก็ยังตอบไม่ได้ว่าแผนของเขาคืออะไรแม้จะผ่านมาแล้ว 9 ปี), การเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยสันติ/เหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม และสงครามยูเครน-รัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความโมโหเกรี้ยวกราดก็ยิ่งทำให้เขาพูดจาแบบไม่มีประเด็นชัดเจน กระโดดไปมาระหว่างหัวข้อต่างๆ จนผู้ฟังสับสน (ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายกับวิธีการพูดของไบเดนในการดีเบตครั้งแรกด้วยซ้ำ)

 

We are not going back.

 

ในทางตรงกันข้าม แฮร์ริสใช้โอกาสนี้ในการแนะนำตัวเองให้กับชาวอเมริกันอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักเธอดีพอ เธอใช้การดีเบตครั้งนี้นำเสนอแผนเศรษฐกิจของเธอ ที่เธอเรียกว่าเศรษฐกิจแห่งโอกาส (Opportunity Economy) ด้วยแผนการลดภาษีสำหรับผู้มีบุตร, แผนการลดภาษีให้กับ SMEs, แผนการลดภาษีให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นการเพิ่มอุปทานให้กับที่อยู่อาศัย และแผนการช่วยเหลือเงินดาวน์กับชาวอเมริกันผู้ซื้อบ้านหลังแรก

 

นอกจากนั้นแฮร์ริสยังใช้โอกาสที่ทรัมป์แสดงความโมโหเกรี้ยวกราดออกมาย้ำให้ชาวอเมริกันระลึกถึงความวุ่นวาย สับสน และดราม่าในทำเนียบขาวตลอด 4 ปีของการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ และย้ำให้ชาวอเมริกันเห็นว่าพวกเขามีทางเลือกเป็นคนรุ่นใหม่อย่างเธอ และไม่จำเป็นต้องกลับไปเจอดราม่าแบบเดิมๆ อีก

 

แฮร์ริสชนะดีเบต แต่ก็อาจไม่มีผลอะไรต่อการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

แฮร์ริสชนะดีเบตในครั้งนี้อย่างเด็ดขาด ผลโพลของ CNN ที่ทำทันทีหลังการดีเบตจบลงพบว่า ชาวอเมริกัน 63% ลงความเห็นว่าแฮร์ริสเป็นผู้ชนะดีเบต ส่วนผู้ที่เห็นว่าทรัมป์ชนะนั้นมีแค่ 37% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตรงกันข้ามกับดีเบตในครั้งแรกที่ชาวอเมริกันให้ทรัมป์ชนะ 63% และไบเดนที่ 37%

 

อย่างไรก็ดี เราพบว่าในการเลือกตั้งยุคใหม่นั้น ดีเบตมักจะมีผลต่อคะแนนนิยมของผู้สมัครน้อยมาก ผู้ที่ชนะดีเบตมักจะมีผลโพลเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น และคะแนนที่เพิ่มขึ้นก็มักจะกลับไปที่เดิมภายใน 2-3 สัปดาห์ เราคงจะต้องดูกันต่อไปว่าคะแนนของแฮร์ริสจะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

 

ภาพ: Adam Gray / Reuters

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X