×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : สรุปดีเบตแรก ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ปะทะคารมเดือด โพลชี้ แฮร์ริสเหนือกว่าหลายประเด็น

11.09.2024
  • LOADING...

การดีเบตครั้งแรกระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เปิดฉากขึ้นในเวลา 21.00 น. วานนี้ (10 กันยายน) หรือตรงกับเวลา 09.00 น. วันนี้ (11 กันยายน) ตามเวลาประเทศไทย ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย

 

โดย ABC News เป็นผู้จัดการดีเบต ท่ามกลางการจับตามองจากชาวอเมริกันและทั่วโลกที่รอชมการแสดงวิสัยทัศน์ของแฮร์ริส ซึ่งรับไม้ต่อจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ถอนตัวจากการลงสมัครไปก่อนหน้านี้

 

การดีเบตตลอดระยะเวลา 90 นาที ครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ, พลังงาน, นโยบายผู้อพยพ, กฎหมายทำแท้ง, นโยบายต่างประเทศ รวมถึงเหตุการณ์จลาจลบุกสภาโดยกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021

 

ทั้งสองฝ่ายมีการปะทะคารมกันอย่างเข้มข้น โดยแฮร์ริสดูเหมือนจะเป็น ‘ฝ่ายรุก’ ในหลายๆ ครั้ง และให้คำตอบประเด็นต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลและชัดเจน ทำให้ทรัมป์ต้องกลายเป็นฝ่าย ‘ตั้งรับ’ และถึงขั้นแสดงอาการหัวเสียและไม่พอใจในบางครั้ง 

 

ด้านทรัมป์ก็โจมตีแฮร์ริสกลับว่า เป็นพวก ‘ซ้ายสุดโต่ง’ และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเธอ รวมถึงกล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเธอสมคบคิดกับไบเดน ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธดำเนินคดีเขา 

 

แฮร์ริสรุกหนัก

 

ช็อตประทับใจเริ่มต้นด้วยการที่แฮร์ริสเดินตรงเข้าไปจับมือทรัมป์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการทักทายแล้ว ยังถูกมองว่าเป็นการแสดงออกในเชิงภาษากายของแฮร์ริสที่ไม่มีท่าทียำเกรงใดๆ ก่อนจะกล่าวต่อทรัมป์ว่า “มาดีเบตกันให้สนุก”

 

ส่วนทรัมป์ตอบกลับว่า “ดีใจที่ได้เจอคุณ”

 

การจับมือกันของทั้งสองคนถือเป็นการจับมือของผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการดีเบตครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่การดีเบตระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ในปี 2016

 

ขณะที่แฮร์ริสทำให้ทรัมป์เกิดอาการโกรธอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการเรียกร้องให้ผู้ชมเข้าร่วมฟังการหาเสียงของทรัมป์ ซึ่งเธอกล่าวว่า ทรัมป์จะพูดในเรื่องแปลกๆ อาทิ กังหันลมทำให้เกิดมะเร็ง ก่อนจะแสดงอาการขบขัน และบอกว่าผู้ชมคงจะหนีไปเพราะความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ทรัมป์พูด

 

ทรัมป์พยายามตอบโต้แฮร์ริสด้วยการบอกว่า การปราศรัยหาเสียงของเขานั้นใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง และกล่าวหาแฮร์ริสว่าขนคนไปร่วมฟังการหาเสียงของเธอ

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวต่อไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน อาทิ อ้างว่าผู้อพยพผิดกฎหมายในประเทศจากเฮติ ก่อเหตุฆ่าและกินสัตว์เลี้ยงของผู้คนในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ซึ่งท้ายที่สุดสื่อหลายสำนักก็ออกมายืนยันหลังการตรวจสอบว่า เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งแพร่หลายในโซเชียลมีเดียและถูกขยายความโดย เจ.ดี. แวนซ์ คู่หูชิงรองประธานาธิบดีของทรัมป์

 

โดย เดวิด เมียร์ ผู้ดำเนินรายการของ ABC News ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ของเมืองสปริงฟิลด์ปฏิเสธเรื่องนี้ว่าไม่มีหลักฐาน ก่อนที่แฮร์ริสจะกล่าวพร้อมหัวเราะว่า ทรัมป์นั้น “พูดได้สุดโต่งมาก”

 

ทรัมป์ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ

 

หนึ่งในประเด็นที่แฮร์ริส ในฐานะอดีตอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย พยายามหยิบยกมาโจมตีทรัมป์ คือกรณีที่ทรัมป์พยายามพลิกผลการเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งต่อมาสถานการณ์บานปลาย จนเกิดเป็นเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 

 

โดยทรัมป์ถูกถามถึงเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว ซึ่งเขายืนกรานว่า ‘ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง’ กับกลุ่มผู้ก่อจลาจล นอกเหนือจากการถูกขอให้เขากล่าวสุนทรพจน์ ขณะที่ทรัมป์ยังยืนยันว่าตัวเขาชนะการเลือกตั้งในปี 2020

 

แฮร์ริสกล่าวว่า ทรัมป์นั้นถูกชาวอเมริกัน 81 ล้านคนไล่ออก และชี้ว่า ประชาชนอเมริกันต้องไม่ได้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พยายามโค่นล้มเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบเดียวกับที่ทรัมป์เคยทำในอดีต

 

ขณะที่เธอยังวิจารณ์ทรัมป์ว่ากำลังถูกบรรดาผู้นำโลกหัวเราะเยาะ และเรียกเขาว่าเป็นคนน่าละอาย ซึ่งเป็นถ้อยคำแบบเดียวกับที่ทรัมป์กล่าวโจมตีไบเดนระหว่างการหาเสียงก่อนหน้านี้

 

การกล่าวโจมตีของแฮร์ริสทำให้ท้ายที่สุดทรัมป์ระเบิดอารมณ์และตอบโต้ โดยอ้างว่าแฮร์ริสไม่ได้รับคะแนนโหวตจากพรรคเดโมแครตในการเสนอชื่อเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และอ้างว่าที่จริงแล้วไบเดนนั้นเกลียดแฮร์ริสและไม่สามารถทนกับแฮร์ริสได้

 

ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธ

 

ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธ โดยทรัมป์อ้างว่า ข้อกล่าวหาที่เขาต้องเผชิญ ทั้งในคดีพลิกผลการเลือกตั้งปี 2020 และคดีจัดการเอกสารลับอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงคดีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปิดปากให้ดาราหนังโป๊ ล้วนเป็นผลจากการสมคบคิดกันของแฮร์ริสและไบเดน ที่สร้างเรื่องขึ้นโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าว

 

ขณะที่แฮร์ริสโต้กลับโดยชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์เคยประกาศคำสัญญาว่าจะดำเนินคดีกับศัตรูหากเขาชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2

 

โต้แย้งปัญหาเศรษฐกิจ

 

ในช่วงเริ่มต้นการดีเบต ทรัมป์และแฮร์ริสได้โต้เถียงกันในประเด็นที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจมากที่สุด นั่นคือนโยบายเศรษฐกิจ

 

โดยแฮร์ริสใช้คำถามแรกในการนำเสนอแผน ‘เศรษฐกิจแห่งโอกาส’ (Opportunity Economy) ของเธอ โดยพยายามลดข้อได้เปรียบของทรัมป์ในประเด็นนี้จากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เปลี่ยนใจง่าย ด้วยการนำเสนอตัวเองเป็นผู้สมัครของชาวอเมริกันชนชั้นกลาง ในขณะที่เรียกทรัมป์ว่าเป็น ‘ผู้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล’

 

แฮร์ริสกล่าวว่า “ฉันเติบโตมาในชนชั้นกลาง และจริงๆ แล้วฉันเป็นคนเดียวบนเวทีนี้ที่มีแผนที่จะยกระดับชนชั้นกลางและคนทำงานของอเมริกา เรารู้ว่าเรามีบ้านและที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ และค่าที่อยู่อาศัยแพงเกินไปสำหรับคนจำนวนมากเกินไป เรารู้ว่าครอบครัวหนุ่มสาวต้องการการสนับสนุนในการเลี้ยงดูลูก และฉันตั้งใจที่จะขยายการลดหย่อนภาษีให้กับครอบครัวเหล่านี้ 6,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการคืนภาษีสำหรับผู้มีบุตรสูงสุดที่เราเคยให้มาเป็นเวลานาน เพื่อให้ครอบครัวหนุ่มสาวเหล่านั้นสามารถซื้อเตียงเด็ก ซื้อเบาะนั่งเด็กในรถ และซื้อเสื้อผ้าให้ลูกๆ ของพวกเขาได้”

 

โดยเธอยังกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของเธอที่เปิดเผยออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงนโยบายคืนภาษีสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดเล็ก 

 

ด้านทรัมป์ได้กล่าวโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของไบเดนและแฮร์ริส โดยกล่าวว่า “ผมไม่เคยเห็นช่วงเวลาที่แย่กว่านี้มาก่อน” 

 

ขณะที่ทรัมป์มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเพิ่มการจัดเก็บภาษี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของอเมริกาจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเรียกแฮร์ริสว่า ‘มาร์กซิสต์’ และกล่าวหาว่าเธอเลียนแบบนโยบายของเขา

 

ปะทะคารมเรื่องทำแท้ง

 

ประเด็นกฎหมายการทำแท้งกลายเป็นประเด็นร้อนที่สองผู้สมัครโต้แย้งกันอย่างดุเดือด

 

โดยทรัมป์พยายามปกป้องคำตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐฯ ในปี 2022 ที่ให้ยุติการคุ้มครองสิทธิในการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญ และส่งประเด็นนี้กลับไปให้แต่ละรัฐพิจารณา โดยเขาอ้างว่า คำตัดสินดังกล่าวคือผลลัพธ์ที่ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต้องการ ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงที่พรรคเดโมแครตมีนโยบายสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนาน

 

โดยทรัมป์กล่าวว่า บางรัฐนั้นอนุญาตให้มีการทำแท้งทารกหลังคลอด ซึ่ง ลินซี เดวิส หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ ABC News ยืนยันว่า เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องหลังการตรวจสอบ

 

ขณะที่แฮร์ริสแสดงความไม่พอใจเล็กน้อยต่อคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่า หากการทำแท้งกลายเป็นประเด็นด้านสิทธิในแต่ละรัฐ จะกลายเป็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ 

 

“นี่คือสิ่งที่ผู้คนต้องการเหรอ ผู้คนถูกปฏิเสธการดูแลในห้องฉุกเฉินเพราะผู้ให้บริการด้านการแพทย์กลัวว่าจะถูกคุมขังในคุกเหรอ” แฮร์ริสกล่าว

 

วิวาทะแบ่งแยกเชื้อชาติ

 

ทรัมป์ยังถูกถามในประเด็นการแบ่งแยกเชื้อชาติว่า ทำไมเขาจึงตั้งคำถามต่อสาธารณชนว่าแฮร์ริสซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาและเอเชียใต้เป็นผู้หญิงผิวดำจริงหรือไม่ ซึ่งทรัมป์ตอบกลับว่า

 

“ผมไม่สนใจว่าเธอเป็นใคร ผมเข้าใจว่าเธอเป็นคนผิวดำ จากนั้นผมก็เข้าใจว่าเธอไม่ใช่คนผิวดำ”

 

ขณะที่แฮร์ริสกล่าวหาทรัมป์ว่า ใช้ประเด็นเรื่องเชื้อชาติในการแบ่งแยกชาวอเมริกันตลอดอาชีพการงานของเขา 

 

เธอยกตัวอย่างว่า ทั้งทรัมป์และพ่อของเขาปฏิเสธผู้เช่าที่เป็นคนผิวดำในช่วงทศวรรษ 1970 และทรัมป์ยังเป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านชายผิวดำและละติน 5 คนที่ถูกตัดสินผิดพลาดในคดีทำร้ายร่างกายนักวิ่งในสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ก ในนครนิวยอร์ก เมื่อปี 1989

 

“ฉันคิดว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรามีคนที่ต้องการเป็นประธานาธิบดีพยายามใช้เรื่องเชื้อชาติมาแบ่งแยกคนอเมริกันตลอดอาชีพการงานของเขา ฉันคิดว่าคนอเมริกันต้องการสิ่งที่ดีกว่านั้น เราไม่ต้องการผู้นำที่พยายามทำให้คนอเมริกันชี้นิ้วใส่กันตลอดเวลา” แฮร์ริสกล่าว 

 

นโยบายต่างประเทศ

 

หนึ่งในประเด็นที่มีการโต้แย้งดุเดือดของแฮร์ริสและทรัมป์คือนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน 

 

โดยทรัมป์ปฏิเสธที่จะพูดว่าเขาต้องการให้ยูเครนชนะสงคราม แม้ว่า เดวิด เมียร์ ผู้ดำเนินรายการ ABC News จะกดดันเขาในประเด็นนี้ ซึ่งทรัมป์พูดเพียงว่า “เขาต้องการยุติความขัดแย้งโดยเร็วที่สุด”

 

ด้านแฮร์ริสโต้กลับโดยแย้งว่า สิ่งที่ทรัมป์ต้องการจริงๆ คือการที่ยูเครนยอมจำนนอย่างรวดเร็วและไม่มีเงื่อนไข

 

“ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน คงจะนั่งอยู่ที่เคียฟในตอนนี้” เธอกล่าว

 

แฮร์ริสยังโต้แย้งข้อกล่าวอ้างของทรัมป์ที่บอกว่า ไบเดนส่งเธอให้ไปคุยกับปูตินเพื่อหาทางออกของปัญหาความขัดแย้ง โดยแฮร์ริสยืนยันว่าเธอไม่เคยพบปูติน แต่เคยพบกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน หลายครั้ง

 

“ฉันพูดตั้งแต่ช่วงต้นของการดีเบตครั้งนี้ว่า คุณจะได้ยินคำโกหกมากมายจากคนคนนี้ และนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

 

ใครชนะ?

 

สำหรับคำถามสำคัญที่ว่า ใครชนะในการดีเบตรอบแรกนี้ สื่อหลายสำนัก อาทิ CNN เผยผลสำรวจของผู้มีสิทธิลงคะแนน ที่ให้แฮร์ริสเป็นผู้ชนะทรัมป์ด้วยคะแนน 63% ต่อ 37%

 

เช่นเดียวกับ The Washington Post ที่เผยผลสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิลงคะแนนในรัฐสมรภูมิ (Battleground States) ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าแฮร์ริสทำได้ดีกว่าในการดีเบตครั้งนี้ โดยบางคนมองว่าทรัมป์น่าจะทำได้ดีกว่านี้หากเขานิ่งและพยายามตอบคำถามให้ชัดเจนมากขึ้น 

 

ภาพ: Brian Snyder TPX Images of the Day / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising