×

อัยการคดีพิเศษเตรียมยื่นฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีขโมยเรือน้ำมันเถื่อน ชลบุรี อีก 2 รายต้องสอบคดีอื่นเพิ่ม ส่วน 11 รายอยู่ระหว่างจับตัวมาส่งอัยการ

โดย THE STANDARD TEAM
10.09.2024
  • LOADING...
เรือน้ำมันเถื่อน

วันนี้ (10 กันยายน) ที่สำนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษนัดฟังคำสั่งในคดีที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้ส่งสำนวนจำนวน 6,240 แผ่น (15 แฟ้ม) พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางคดี ในคดีเรือน้ำมันเถื่อนของกลางกว่า 3 แสนลิตรหายบริเวณท่าเทียบเรือตำรวจน้ำ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทั้งหมด 21 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 

 

กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างควบคุมตัวในเรือนจำ จำนวน 8 คน โดยมีกำหนดครบฝากขังครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 กันยายน 2567  

 

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการหลบหนี 11 คน 

 

กลุ่มที่ 3 เป็นผู้ต้องหาจำนวน 2 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาลำดับที่ 20 และ 21 ซึ่งทราบนัดรับฟังคำสั่งในวันนี้ ทั้งนี้สำนวนพนักงานอัยการมีความเห็นให้สั่งสอบสวนเพิ่มเติม จึงได้เลื่อนการทราบนัดออกไป 1 เดือน โดยนัดอีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 2

 

ในส่วนของสาเหตุที่พนักงานอัยการได้สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากในส่วนผู้ต้องหาที่ 20-21 พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องเพียงข้อหา ร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น และยินยอมให้ผู้อื่นเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการกระทำความผิด พนักงานอัยการจึงเห็นควรให้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมในข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิ้นกระแสความ

 

ส่วนผู้ต้องหาในคดีที่จะครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายจำนวน 8 คน พนักงานอัยการสามารถสั่งฟ้องต่อศาล คาดว่าจะยื่นฟ้องได้ในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตามอำนาจศาลไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนรายละเอียดจะโดนฟ้องข้อหาใดบ้างต้องรอตอนยื่นฟ้องในวันที่ 11 กันยายน

 

ส่วนผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการหลบหนีจำนวน 11 คน ตามขั้นตอนการส่งสำนวน พนักงานสอบสวนต้องแนบหมายจับไปและตำหนิรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องหาทั้งหมด รวมถึงความเห็นควรสั่งฟ้องส่งให้กับพนักงานอัยการ ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องสืบสวนติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมาย ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดี

 

มีรายงานว่าสำหรับคดีนี้กล่าวหาว่า ก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจน้ำกับพวกได้ร่วมกันจับกุม สุนทร เขียวสุวรรณ (ผู้ต้องหาที่ 1) กับพวก รวม 28 คน ดำเนินคดีในข้อหาพยายามลักลอบนำน้ำมันเข้ามาในราชอาณาจักรฯ ตามคดีอาญาที่ 102/2567 ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และได้ยึดเรือ 5 ลำเป็นของกลางประกอบด้วย เรือ เจ.พี., เรือกำไรเงิน (ซีฮอร์ส) และเรือดาวรุ่ง ซึ่งทั้ง 3 ลำเป็นเรือบรรทุกน้ำมันหรือเรือแทงเกอร์ ส่วนอีก 2 ลำคือ เรือกำไรเงิน (เหล็ก) และเรือ บ.โชคบุญชู 91 ซึ่งเป็นเรือที่วิ่งรับขนถ่ายน้ำมันจากเรือแทงเกอร์ 

 

โดยเรือทั้ง 5 ลำเป็นของกลางตามบัญชีของกลางลำดับที่ 49/2567 เก็บรักษาของกลางไว้ที่ท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสัตหีบ ในจำนวนนั้นมีผู้ต้องหาที่ 1-14 ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย โดยผู้ต้องหาที่ 1 เป็นไต๋เรือ เจ.พี. มีผู้ต้องหาที่ 2-6 เป็นลูกเรือ ผู้ต้องหาที่ 7 เป็นไต๋เรือกำไรเงิน (ซีฮอร์ส) มีผู้ต้องหาที่ 8-9 เป็นลูกเรือ และผู้ต้องหาที่ 11 เป็นไต๋เรือดาวรุ่ง มีผู้ต้องหาที่ 12-15 เป็นลูกเรือ ซึ่งผู้ต้องหาที่ 15 ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวด้วย

 

ตามวันเวลาที่เกิดเหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 เวลา 20.11 น. ผู้ต้องหาที่ 1-15 ได้ร่วมกันลักเอาเรือ เจ.พี. ราคาประมาณ 2,205,000 บาท พร้อมน้ำมันดีเซลของกลาง 75,000 ลิตร ราคาลิตรละ 28.48 บาท คิดเป็นเงิน 2,136,000 บาท เรือกำไรเงิน (ซีฮอร์ส) ราคาประมาณ 800,000 บาท พร้อมน้ำมันดีเซลของกลาง จำนวน 150,000 ลิตร ราคาลิตรละ 28.48 บาท คิดเป็นเงิน 4,272,000 บาท และเรือดาวรุ่ง ราคาประมาณ 5,500,000 บาท พร้อมน้ำมันดีเซลของกลาง จำนวน 105,000 ลิตร ราคาลิตรละ 28.48 บาท คิดเป็นเงิน 6,848,000 บาท ความเสียหายทั้งหมดรวมเป็นเงิน 16,961,000 บาท หลบหนีไปจากท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสัตหีบ  

 

ส่วนผู้ต้องหาที่ 15 ซึ่งมิได้เป็นผู้ร่วมกระทำผิดในคดีอาญาที่ 1002 /2567 ของ บก.ปอศ. แต่ได้ช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาที่ 1-14 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาดังกล่าว ได้ร่วมกันลักเรือทั้ง 3 ลำพร้อมน้ำมันดีเซลของกลางหลบหนีไป จึงเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด

 

ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจน้ำได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า พบเรือทั้ง 3 ลำดังกล่าวแล่นอยู่ที่บริเวณทะเลอ่าวไทย พิกัดละติจูด 8.20 ลองจิจูดที่ 101.50 จึงเดินทางไปตรวจสอบพบผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3, 5, 7, 8, 9 และ 11 รวมจำนวน 8 คน อยู่บนเรือทั้ง 3 ลำ 

 

ส่วนผู้ต้องหาที่ 4, 6, 10, 12, 13, 14 และ 15 รวมจำนวน 7 คน ซึ่งหลบหนีขึ้นเรือ SK-9 ไปก่อนแล้ว จึงควบคุมผู้ต้องหาที่พบทั้งหมด พร้อมเรือทั้ง 3 ลำเข้าฝั่งที่ท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสงขลา 

 

ถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 เวลา 20.00 น. จากการตรวจสอบพบว่า น้ำมันดีเซลของกลางที่บรรทุกอยู่เรือ เจ.พี. จำนวน 75,000 ลิตร คงเหลือ 3,600 ลิตร น้ำมันหายไป 71,400 ลิตร ลิตรละ 28.48 บาท คิดเป็นเงิน 2,033,472 บาท น้ำมันดีเซลของกลางที่บรรทุกอยู่ในเรือกำไรเงิน (ซีฮอร์ส) จำนวน 150,000 ลิตร คงเหลือ 1,290 ลิตร หายไปจำนวน 148,710 ลิตร ลิตรละ 28.48 ลิตร คิดเป็นเงิน 4,235,260.80 บาท และน้ำมันดีเซลของกลางที่บรรทุกอยู่ในเรือดาวรุ่ง จำนวน 105,000 ลิตร ลิตรละ 28.48 บาท หายไปทั้งหมดคิดเป็นเงิน 2,990,400 บาท รวมน้ำมันของกลางหายไป 325,110 ลิตร มูลค่าความเสียหายไม่ได้รับคืน 9,259,132.80 บาท (ได้รับเรือและน้ำมันของกลางบางส่วนคืนมูลค่า 7,501,867.20 บาท) 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก รวม 8 คน ตามหมายจับของศาลอาญา พร้อมยึดเรือทั้ง 3 ลำและน้ำมันดีเซล รวมถึงเครื่องวิทยุสื่อสารและเครื่องดาวเทียมนำทางเป็นของกลาง นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ดำเนินคดี จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า คดีนี้ผู้ต้องหาที่ 16-19 ร่วมกันวางแผนใช้ให้ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ลักเรือพร้อมน้ำมันของกลางตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2567  

 

โดยนำเงินที่ได้จากการค้าน้ำมันเถื่อนที่ลูกค้าโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 21 แล้วโอนไปซื้อเครื่องวิทยุสื่อสารขนาดใหญ่และเครื่องดาวเทียมนำทาง จำนวน 3 ชุด เพื่อใช้ในการหลบหนี และโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 20 เพื่อซื้อเสบียงอาหารใช้ระหว่างหลบหนี โดยผู้ต้องหาที่ 16 กับพวกได้ควบคุมสั่งการให้ผู้ต้องหาที่ 1, 7 และ 11 เดินเรือที่ลักมาไปยังพิกัดเป้าหมายแล้วให้ยักย้ายถ่ายเทน้ำมันดีเซลของกลางไปซุกซ่อนไว้ยังเรือ SK-9 หรือแหล่งรับน้ำมันอื่นๆ ปิดบัง ซ่อนเร้น เปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ปกปิดแหล่งที่มา การได้มาซึ่งทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 

 

ร่วมกันยักย้ายถ่ายเทน้ำมันดีเซลของกลางแล้ว ผู้ต้องหาที่ 16 กับพวกยังได้ให้ผู้ต้องหาที่ 1, 7 และ 11 เดินเรือที่ลักมาไปยังพิกัดเป้าหมายแล้วให้ยักย้ายถ่ายเทน้ำมันดีเซลของกลางไปซุกซ่อนไว้ยังเรือ SK-9 หรือแหล่งรับน้ำมัน ปิดบัง ซ่อนเร้น เปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ปกปิดแหล่งที่มา การได้มาซึ่งทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหลังจากร่วมกันยักย้ายถ่ายเทน้ำมันดีเซลของกลางแล้ว ผู้ต้องหาที่ 16 กับพวกยังได้ให้ผู้ต้องหาที่ 4, 6, 10, 12, 13, 14 และ 15 หลบหนีขึ้นเรือ SK-9 หรือเรือลำอื่นหลบหนีไป ผู้ต้องหาที่ 16-21 จึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้ต้องหาที่ 15 กระทำผิดฐานเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ 14 มิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดอีกฐานหนึ่ง

 

เหตุเกิดที่ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี, ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร, ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี, ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (สถานที่บันทึกจับกุม) และหลายท้องที่เกี่ยวพันกัน ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 16 มิถุนายน 2567

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising