×

เฟ้นหาโอกาสลงทุนกองทุนทั่วโลกจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำระดับโลกผ่านงาน UOB Offshore Investment [ADVERTORIAL]

10.09.2024
  • LOADING...

จากงาน Empowering the Future: Navigating Uncertainties in the Current Macro Backdrop with Offshore Investment ที่จัดขึ้นโดยธนาคารยูโอบี ซึ่งรวบรวมข้อมูล มุมมอง และกลยุทธ์การลงทุน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนระดับโลกมากกว่า 10 แห่ง และวิทยากรพิเศษอีก 2 ท่าน ผ่าน 4 ธีมการลงทุนหลัก ได้แก่ 

 

  1. Fixed Income Frontiers: A Strategic Approach to Thrive in Market Turbulence เพื่อหาโอกาสการเติบโตจากการลงทุนในตราสารหนี้ ท่ามกลางเทรนด์ดอกเบี้ยที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ขาลง
  2. Global Equity Panorama: Unlocking Growth Opportunities in Emerging Market and Developed Market เพื่อหาโอกาสลงทุนจากหุ้นทั่วโลก ที่จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน
  3. The New Investment Paradigm: Managing the Portfolio Risk with Multi-Asset Idea เพื่อวางกลยุทธ์และจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสม และสร้างผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม
  4. Invest in the Next Big Thing: Separating Hype from Reality เพื่อไขคำตอบเทรนด์การลงทุนแห่งโลกอนาคต ที่จะช่วยนักลงทุนคัดกรอง ‘กระแส’ ออกจากโลกความเป็นจริง ทั้งเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจโลกอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือทองคำ ที่แม้หลายคนจะมองเป็นสินทรัพย์ ‘ดั้งเดิม’ แต่โลหะประเภทนี้อาจเป็นคำตอบสำหรับโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

 

หาโอกาสในตลาดตราสารหนี้

 

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ ‘นโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก’ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะมีการประชุมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันระหว่างวันที่ 12-20 กันยายนนี้

 

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สิ่งสำคัญจริงๆ อาจไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยตัวของมันเอง แต่เป็นการคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะดำเนินการอย่างไรเมื่อตลาดเปลี่ยนการคาดการณ์ที่จะกระทบต่อตราสารหนี้ทั่วโลก” 

 

เดิมทีตลาดคิดว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 6 ครั้งในปีนี้ ก่อนจะปรับมุมมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยแค่ครั้งเดียว ก่อนที่ล่าสุดตลาดจะปรับมุมมองอีกครั้งว่าในปีนี้อาจเห็นการลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง 

 

ดร.ดอน บอกว่า สิ่งสำคัญ 2 อย่างที่ต้องจับตา คือ 

 

  1. ความเร็วในการปรับลดดอกเบี้ย เช่น ลดครั้งละ 0.25% หรือ 0.50% 
  2. สุดท้ายแล้วอัตราดอกเบี้ยจะลดลงไปอยู่ที่เท่าไร (Terminal Rate)

 

 

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

แล้วโอกาสลงทุนในตราสารหนี้อยู่ตรงไหน? 

 

Anis Tiasiri, Executive Director, J.P. Morgan Asset Management มองว่า กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้สำหรับปีนี้กับปีหน้าจะแตกต่างกัน โดยปีนี้นักลงทุนควรเน้นลงทุนในบอนด์หรือตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วสูงๆ ก่อน แต่หลังจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวลงแล้ว นักลงทุนควรมองหาบอนด์ที่มีอายุยาวหน่อย เพราะจะมีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างราคา หรือ Capital Gain ที่เพิ่มขึ้น

 

“รอให้ดอกเบี้ยลงก่อนอย่างน้อยสักหนึ่งครั้งค่อยเพิ่มบอนด์ที่มีอายุ หรือ Duration ที่ยาวมากขึ้นในพอร์ต ถ้าใครยังไม่ได้กลับมาดูบอนด์หรือตราสารหนี้ ต้องเริ่มกลับมามองแล้ว” 

 

Christopher Wong, Client Portfolio Strategist, Fidelity International มีมุมมองที่คล้ายกับ J.P. Morgan โดยมองว่า นักลงทุนควรมุ่งลงทุนในบอนด์ที่มีอายุยาว ซึ่งเป็นกลุ่มบอนด์ที่มีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนดีกว่าบอนด์กลุ่มอื่นๆ 

 

“ด้วยการลดดอกเบี้ยที่กำลังจะมาถึง สำหรับตราสารหนี้เราชอบการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและ Investment Grade Bonds มากกว่า High-Yield Bonds” 

 

ด้าน Lewis Teo, Fixed Income Investment Specialist, UBS Asset Management เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่จะเป็นแบบ ‘Soft Landing’ ขณะที่เงินเฟ้อจะลดลง ทำให้ตราสารหนี้อย่าง AT1 และ T2 ซึ่งเป็นบอนด์ของธนาคารยุโรปจะเป็นหนึ่งในกลุ่มตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดีจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 

 

  1. ความแข็งแกร่งของสินเชื่อในปัจจุบัน โดย 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ ในยุโรปต่างสร้างรายได้และกำไรได้ดี ช่วยให้ฐานะการเงินแข็งแกร่งมากขึ้น
  2. มูลค่าของตราสารหนี้ประเภทนี้ที่ค่อนข้างน่าดึงดูด

 

มองรอบทิศ คว้าโอกาสในตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์ทั่วโลก

 

หนึ่งในอีเวนต์สำคัญที่นักลงทุนกำลังจับตาอยู่ ณ เวลานี้คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายปีนี้ และผลลัพธ์ของเหตุการณ์นี้จะมีนัยอย่างมากต่อทิศทางการลงทุนทั่วโลก

 

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกในช่วงปีหลังต่อจากนี้คือการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลค่อนข้างเยอะต่อตลาดการลงทุน ขึ้นอยู่กับนโยบายของสองพรรคการเมือง

 

สำหรับเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายที่มีท่าทีคล้ายกันคือการต่อต้านการค้ากับจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับเศรษฐกิจโลก โดยท่าทีของ คามาลา แฮร์ริส จะโฟกัสไปที่การรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบางราย แต่ในทางกลับกัน โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะมีทีท่าที่หนักข้อต่อการเก็บภาษีการค้ากับจีนให้สูงขึ้น และอาจลามไปใช้กฎเกณฑ์นี้กับหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น ภูมิภาคยุโรปที่ไม่ค่อยลงรอยกับทรัมป์ในสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งอาจจะยังคาดเดาได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ดังนั้นการจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกับกลยุทธ์การลงทุนทั่วโลก

 

ด้าน Alex Smith, Head of Equity Investment Specialists ประจำ Aberdeen Investment มองว่า นักลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีความระมัดระวังและคิดให้รอบคอบในบางกลุ่มธุรกิจ เช่น หุ้นกลุ่มเติบโต หรือหุ้น 7 นางฟ้าที่มีการกระจุกตัวของเงินลงทุนจำนวนมากจากการแห่เข้าซื้อ เพราะอาจกลัวตกรถ

 

แต่ความจริงแล้วตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีตัวเลือกอีกเยอะมาก โดยเฉพาะในบริษัทที่มีประวัติการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าธุรกิจเหล่านั้นอาจจะดูแล้ว ‘น่าเบื่อ’ ในสายตานักลงทุน แต่ตลาดสหรัฐฯ โดยรวมยังมีราคาหุ้นที่ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ทำให้ Alex Smith คิดว่าการลงทุนที่ดีในขณะนี้คือการพยายามหาหุ้นที่คนส่วนมากอาจจะไม่รู้จัก แต่มีพื้นฐานการจ่ายปันผลที่ดีและมั่นคง

 

“บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ​ ค่อนข้างมีความกระจุกตัว แต่ผมมองว่ากลุ่มที่น่าสนใจและกลับถูกมองข้ามคือบริษัทที่จ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อการปรับลดดอกเบี้ยกำลังใกล้เข้ามา” Alex Smith กล่าว

 

 

ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนบางกลุ่มต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ David Wong นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสประจำ AllianceBernstein ชวนคิดว่า สหรัฐฯ นั้นเคยผ่านสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้ว 17 ครั้ง และเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่มา 1 ครั้งในอดีต ซึ่งทุกครั้งชาติมหาอำนาจนี้ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวที่ต่ำต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ 

 

ดังนั้นภาพการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังจะไปต่อได้ อีกทั้งหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การที่ David Wong เผยข้อมูลให้เห็นก็คือ ตลอดประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ในภาพใหญ่ และเขามองว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะส่งผลแค่ระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนดีที่สุดคือ ‘ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ’

 

อย่างไรก็ดี David Wong เน้นถึงการที่นักลงทุนต้องมองให้กว้างและไกลกว่าแค่การจดจ่อกับ ‘ผลกำไร’ แต่ต้องพิจารณาคุณภาพและความมั่นคงด้วย โดยการเลือกกระจายความเสี่ยงในหุ้นโลกก็เป็นหนึ่งตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม 

 

นอกจากนี้หากขยับออกมาดูโอกาสการลงทุนนอกสหรัฐฯ Shekhar Sambhshivan หัวหน้าฝ่ายการลงทุนและผู้จัดการกองทุน Invesco India Equity Fund ประเมินว่า อินเดียเป็นหนึ่งตลาดที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเม็ดเงินการลงทุนที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้เขามั่นใจฉากทัศน์การลงทุนในอินเดีย

 

นอกจากนี้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทำให้เม็ดเงินมีการโยกย้ายไปหาแหล่งลงทุนใหม่ ซึ่งสภาวะการเงินและเศรษฐกิจปัจจุบันของอินเดียนั้นก็เอื้อต่อการรับเม็ดเงินเหล่านั้น เนื่องจากพื้นฐานการเงินยังแข็งแรงและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยตามเทรนด์ที่น่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้อินเดียได้เปรียบในการจูงใจนักลงทุนด้วยผลตอบแทนระดับสูง

 

วางกลยุทธ์สร้างพอร์ตให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

 

ท่ามกลางความผันผวนในโลกการลงทุน นอกจากการเลือกว่าจะซื้อหรือจะขายสินทรัพย์ใดบ้าง การผสมผสานสินทรัพย์ต่างๆ เข้ามาในพอร์ต ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างสมดุลและสร้างการเติบโตให้เงินลงทุนอย่างยั่งยืน

 

Zach Bevevino, Director and Product strategist in the BlackRock Multi-Asset Strategies & Solutions กล่าวว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ลดลงจาก 9% มาสู่ระดับ 3% เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดการลงทุนกำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง และอีกปัจจัยที่สำคัญคือมุมมองที่ว่าการเติบโตยังคงดำเนินต่อไปแม้จะชะลอตัว (Slowing Growth) แต่ไม่ถึงขั้นถดถอย (Recession) 

 

พอร์ตลงทุนที่เน้นหุ้นและบอนด์ ในส่วนของหุ้นนักลงทุนต้องโฟกัสกับ ‘คุณภาพ’ มากขึ้น ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รักษากำไรไว้ได้ ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และหนี้ต่ำ

 

พอร์ตลงทุน 60/40 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นและบอนด์ในพอร์ต ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการถือเงินสด จะเห็นว่าการลงทุนในหุ้นและบอนด์ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเท่าตัวตลอด 100 ปีที่ผ่านมา 

 

“คำถามที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนตอนนี้ไม่ใช่ว่าเราจะซื้อ ‘หุ้น’ หรือ ‘ตราสารหนี้’ แต่คือนักลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า “เราต้องทำอะไรกับเงินสดที่มี?” ผมมองว่าจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการแบ่งลงหุ้นและตราสารหนี้แบบ 60/40” 

 

 

หากมองต่อไปยังปี 2025 นักลงทุนควรปรับกลยุทธ์อย่างไร? 

 

Arthit Thongcharoen, Head of Thailand Business, Schroders Investment Management มองว่า ทุกภูมิภาคจะเติบโตน้อยลง แต่การเติบโตในเอเชียยังทำได้ค่อนข้างดี โดยมีผู้นำอย่างอินเดียและอินโดนีเซียเข้ามาแทนที่จีน

 

“ตอนนี้กำไรของหุ้นในเอเชียเริ่มฟื้นตัวและราคายังถูก แต่มูลค่าไม่ใช่แค่เรื่องเดียวที่น่าสนใจ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จะทำให้เงินทุนเริ่มไหลกลับมายังตลาดเกิดใหม่รวมทั้งเอเชียด้วย”​

 

ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในมุมของ Schroders แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

  1. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI 
  2. หุ้นที่กำลังปฏิรูปการบริหารจัดการให้มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส 
  3. หุ้นที่ธุรกิจให้ผลตอบแทนสูงและค่อนข้างแน่นอน 

 

นอกจากการพิจารณาว่าควรจะเลือกถือสินทรัพย์อะไรในสัดส่วนเท่าใด หลักคิดของนักลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน 

 

Dharmo Soejanto, Chief Investment Strategist of UOBAM Invest, UOB Asset Management บอกว่า นักลงทุนจำนวนหนึ่งมักจะมีมุมมองที่ผิดต่อการมองสินทรัพย์ โดยเป็นการมองไปเพียง 2 มุมเท่านั้น คือ เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง แต่ในความเป็นจริงแล้วความเสี่ยงรวมทั้งผลตอบแทนมีหลายระดับกว่านั้น 

 

“กลยุทธ์กระจายพอร์ตลงทุนเป็นการกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่เพื่อให้ความเสี่ยงหมดไป และการกระจายการลงทุนนี้ไม่มีกลยุทธ์ที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายของนักลงทุนคืออะไร” 

 

Dharmo Soejanto ยังบอกอีกว่า การปกป้องพอร์ตลงทุนสามารถทำได้หลายวิธี ขณะเดียวกันการลงทุนระยะยาวก็ช่วยลดความผันผวนระยะสั้นได้ รวมทั้งการวางแผนเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและประเมินความเป็นไปได้ในหลายๆ สถานการณ์ 

 

มองทะลุกระแส คว้าผลตอบแทนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและเมกะเทรนด์โลก

 

หากพูดถึงธีมการลงทุนที่มาแรงที่สุดในช่วงเวลานี้ คำว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็คงเป็นอะไรที่นักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม 7 นางฟ้าที่ต่างเร่งทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ Black Monday ที่ทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานอย่างรุนแรง ทำให้นักลงทุนเริ่มมีคำถามว่าจริงๆ แล้วการลงทุนในเทคโนโลยี AI อาจเป็นเพียงแค่ฟองสบู่หรือไม่?

 

ประเด็นนี้ Kelvin Lam, Head of Retail Distribution, South East Asia ประจำ Allianz Global Investors กล่าวว่า “การปรับฐานครั้งล่าสุดจะไม่ทำให้เมกะเทรนด์อย่าง AI หายไป แต่เม็ดเงินมหาศาลไหลไปหาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากการเติบโตของ AI ใน 1 ปีที่ผ่านมา จะแค่โยกย้ายเม็ดเงินไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น การแพทย์และภาคการเงิน ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จาก AI เหมือนกัน” 

 

Ai-Enabled Industries คือคีย์เวิร์ดจาก Kelvin Lam ในการมองหาโอกาสลงทุนคือ อุตสาหกรรมที่อาจไม่ได้เป็นผู้พัฒนา AI โดยตรง แต่มีการนำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาใช้ในธุรกิจเพื่อยกระดับการทำงานขององค์กร

 

ในแง่ของนโยบายการควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เบญจรงค์ เตชะมวลไววิทย์ Head of Thailand Business, Franklin Templeton มองว่า หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง โอกาสที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้นนั้นมีสูงกว่าในกรณีของ คามาลา แฮร์ริส เนื่องจากการคุมเข้มและกำกับทิศทางการพัฒนานวัตกรรมจะมีน้อยกว่าคณะทำงานชุดปัจจุบัน

 

 

แม้ว่าในตอนนี้บริษัทบิ๊กเทคจำนวนมากจะถูกตรวจสอบ แต่เบญจรงค์เชื่อว่าพัฒนาการของ AI คือเกมระยะยาว โดยดูจากท่าทีของการทุ่มเม็ดเงินจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อแข่งกันเป็นเจ้าตลาด

 

“เราเชื่อว่าเทรนด์ AI จะยังเติบโตต่อไปได้อีกในระยะยาว เพราะบริษัททั่วโลกยังคงเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญของการลงทุนต่อจากนี้คือบริษัทที่มีพื้นฐานที่แข็งแรง” เบญจรงค์กล่าว

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น AI ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะเป็นการลงทุนเมกะเทรนด์ในอนาคต แต่กลับเป็นสินทรัพย์ที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มานับพันปีนั่นคือ ‘ทองคำ’

 

Freeman Tsang, Managing Director ประจำ Pictet Asset Management กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อโลกมีความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และตลาดการเงินอยู่ในภาวะผันผวน โดยตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางต่างๆ กำลังเพิ่มสำรองทองคำของตนเป็นจำนวนมหาศาล”

 

เมื่อมีการคว่ำบาตรทางการค้า ที่ส่งผลให้บางประเทศไม่สามารถทำการค้าด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐได้ ความต้องการทองคำก็จะเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บมูลค่า และในช่วงนี้ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงบวกกับความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นจากธนาคารกลาง เช่น จีนและตะวันออกกลาง ราคาทองคำจึงปรับตัวสูงขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising