×

JPMorgan คาดวิกฤตอสังหาจีนลากยาวถึงปี 2025 ส่วนมาตรการสั่งแบงก์ลดดอกเบี้ยแค่ช่วยประคอง

03.09.2024
  • LOADING...
วิกฤต อสังหาริมทรัพย์จีน

วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์จีนเรื้อรังมานานกว่า 4 ปี และลามไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การจ้างงาน การบริโภค และการเงินภาคครัวเรือน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan มองว่าวิกฤตอสังหาของจีนจะยังดำเนินต่อไป เนื่องจากมาตรการกระตุ้นและสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวนมากยังไม่ ‘น่าพอใจ’ ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

 

Haibin Zhu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ JPMorgan กล่าวกับ CNBC ว่า “วิกฤตตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่จบ” และเสริมว่า ราคาบ้านจะยังชะลอตัวจนกว่าจะถึงปี 2025 เป็นอย่างเร็วที่สุด

 

ข้อมูลจาก China Index Academy ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (31 สิงหาคม) ระบุว่า ราคาขายเฉลี่ยสำหรับบ้านใหม่ใน 100 เมืองของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 0.11% จากเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงอีกจากการเติบโต 0.13% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ราคาบ้านมือสองลดลง 0.71% จากเดือนก่อนหน้า

 

ราคาเฉลี่ยของทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสองก็ปรับลดลง 1.76% และ 6.89% จากปีก่อน ตามลำดับ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคอสังหายังคงตกอยู่ในช่วงวิกฤต

 

ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการใหม่ หวังช่วยเหลือกลุ่มผู้ผ่อนซื้อบ้านผ่านอัตราการกู้เดิม ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายของสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ถูกลง โดยการลดอัตราดอกเบี้ยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์

 

รัฐบาลจีนมีแผนที่จะอนุญาตให้ผู้มีสินเชื่อบ้านทั้งหมดมูลค่ารวมกว่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์ สามารถรีไฟแนนซ์บ้านในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงได้ โดยให้ระยะเวลาเจรจาถึงเดือนมกราคม 2025 กับธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารเดิมที่เคยทำสินเชื่อไว้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2007-2008 ที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้

 

Winnie Wu หัวหน้าฝ่ายนักกลยุทธ์ตลาดทุนจีนของ Bank of America กล่าวว่า “บางคนคิดว่ามาตรการรีไฟแนนซ์ของจีนจะช่วยกระตุ้นภาคการบริโภค นั่นเป็นแค่มุมมองความคิดเพียงด้านเดียว การปรับลดสินเชื่อบ้านลงจะทำให้ธนาคารต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงตาม และเมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลง รายได้ภาคครัวเรือนจากดอกเบี้ยเงินฝากก็จะลดลงเช่นกัน”

 

Wu กล่าวเสริมว่า การลดดอกเบี้ยไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด การบีบสัดส่วนกำไรของธนาคารจะทำได้แค่ช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลจีนจำเป็นต้องสร้างแนวโน้มของผลตอบรับที่เป็นบวกมากกว่าการสร้างผลกระทบเชิงลบเรื่อยๆ เช่นนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X