×

เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ คาดไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2024
  • LOADING...

วานนี้ (1 กันยายน) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ที่สถานีวัดน้ำ C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,485 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่ ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น  

 

กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,399 ลบ.ม./วินาที เร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด 

 

ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา รวมถึงตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร  

 

ส่วนที่สถานีวัดน้ำ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 1,400 ลบ.ม./วินาที จากอิทธิพลของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน 2567 อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ยกตัวสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,209 ล้าน ลบ.ม. (57% ของความจุอ่างเก็บน้ำรวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,662 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ได้ปรับลดการระบายน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ  

 

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising