สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเกาหลีใต้ (FSS) ขอให้เจ้าหนี้ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สรุปแผนแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในเส้นตายวันที่ 6 กันยายนนี้ เนื่องจากตัวเลขสินเชื่อความเสี่ยงสูงพุ่งเกินการคาดการณ์เดิมของหน่วยงานกำกับดูแล
FSS รายงานเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2024 ว่า ยอดสินเชื่อโครงการที่สถาบันการเงินต่างๆ ปล่อยกู้ไปทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2024 อยู่ที่ 216.5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 1.62 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้มีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง 21 ล้านล้านวอน คิดเป็น 9.7% จากสินเชื่อทั้งหมด สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้าที่ 5% เท่านั้น
“หลักการคือการนำโครงการที่ค้างชำระมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปมาตั้งโต๊ะประมูล และหากแผนการของรัฐบาลผ่านไปได้ จะทำให้สุขภาพของสถาบันการเงินดีขึ้น และเรียกความเชื่อมั่นการปล่อยสินเชื่อโครงการอสังหาได้” พัคซังวอน ว่าที่ผู้ว่าการหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเกาหลีใต้ (FSS) กล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg
ปัญหาสินเชื่อนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Taeyoung Engineering & Construction Co. ตกเป็นข่าวปัญหาทางการเงินจนต้องปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ตื่นตระหนกเพิ่มเติมในภาคอสังหาริมทรัพย์
ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในเกาหลีใต้แจ้งว่า จะมีการปรับเกณฑ์การประเมินความเป็นไปได้ของการขอสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โครงการที่มีการค้างชำระเกินกว่าระยะเวลา 6 เดือน จะถูกนำมาขายทอดตลาดตามนโยบายใหม่ของหน่วยงานกำกับดูแลฯ
“สำหรับโครงการที่ถูกประเมินว่าปกติ FSS จะคอยให้คำปรึกษาสถาบันการเงินด้านการจัดหาเงินทุนผ่านการปรับเพิ่มระยะเวลาครบกำหนดชำระหนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น” พัคซังวอนกล่าว
รองผู้ว่าการฯ กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการที่ได้รับการประเมินว่า ‘ปกติ’ สำนักงานกำกับดูแลทางการเงินจะแนะนำให้บริษัททางการเงินจัดหาเงินทุนผ่านการขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจดำเนินไปตามปกติ
จากจำนวนหนี้ทั้งหมดพบว่า ประมาณ 33.7 ล้านล้านวอนมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มละลาย และ 21 ล้านล้านวอนพบว่ามีปัญหา ขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อโครงการเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในกลุ่มผู้ให้กู้ที่ไม่ใช่ธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 17.6% ในไตรมาสแรกตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือนมิถุนายน
การแก้ปัญหาสินเชื่อในภาคอสังหามีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะราคาบ้านในเมืองหลวงอย่างกรุงโซลปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาบ้านนอกเมืองกลับมีแต่จะปรับตัวลง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ธนาคารกลางประเทศเกาหลีใต้ (BOK) กำลังเป็นกังวลอยู่ ในขณะที่ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิมในเดือนสิงหาคมนี้
BOK และรัฐบาลเกาหลีใต้ พยายามควบคุมราคาบ้านในกรุงโซลที่มีความร้อนแรงเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้สร้างภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และท้ายที่สุดอาจกระทบภาคเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้ BOK ต้องนำเอาปัจจัยภาคอสังหามาร่วมพิจารณาสำหรับนโยบายดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป
อ้างอิง: