×

คู่มือเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลือกตั้งประธานาธิบดี

29.08.2024
  • LOADING...
คู่มือเลือกตั้งสหรัฐฯ

การเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังจะเปิดฉากขึ้น แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกจับตา เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบของประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใครแล้ว สหรัฐฯ ยังมีบทบาททางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ตัวผู้นำหรือประธานาธิบดีจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภูมิรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความมั่นคงทั่วโลกตลอดช่วง 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง

 

THE STANDARD จัดทำคู่มือเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ ครบ จบ ในที่เดียว

 

วันเลือกตั้ง:

 

5 พฤศจิกายน 2024

 

กฎหมายสหรัฐฯ กำหนดให้วันเลือกตั้งทั่วไปตรงกับวันอังคารถัดจากวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ 4 ปี หรือก็คือวันอังคารแรกหลังวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งวันเลือกตั้งเร็วที่สุดที่เป็นไปได้คือวันที่ 2 พฤศจิกายน และช้าที่สุดคือวันที่ 8 พฤศจิกายน ส่วนการเลือกตั้งปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน

 

 

รูปแบบการลงคะแนนเสียง

  • ลงคะแนนเสียงด้วยตนเองที่คูหาเลือกตั้ง 
  • เลือกตั้งทางไปรษณีย์

 

เวลาเปิด-ปิดคูหา

เวลาเปิดและปิดการลงคะแนนเสียงในคูหาจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐ นอกจากนี้บางเมืองหรือบางเคาน์ตีอาจเปิด-ปิดในเวลาต่างกันด้วย อาทิ รัฐนิวแฮมป์เชอร์

 

หน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่เปิดในเวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และปิดในเวลา 20.00 น. ขณะที่รัฐเวอร์มอนต์เปิดให้คนลงคะแนนโหวตได้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. โดยหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศจะปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น

 

เมื่อเทียบตามโซนเวลาแล้ว รัฐที่เปิดคูหาเป็นรัฐแรกๆ คือรัฐอินดีแอนาและเคนทักกี และรัฐที่ปิดคูหาเป็นรัฐสุดท้ายคือฮาวาย (ปิดในเวลา 19.00 น. ซึ่งช้ากว่าเวลานิวยอร์ก 6 ชั่วโมง หรือตรงกับช่วงเที่ยงวันที่ 6 พฤศจิกายน ตามเวลาไทย)

 

 

เส้นทางสู่ทำเนียบขาวและปฏิทินเลือกตั้ง

ในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยปกติแล้วฤดูกาลเลือกตั้งจะเริ่มต้นขึ้นจากการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เพื่อเฟ้นหาผู้สมัครมาเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยมี 2 รูปแบบหลักๆ คือ คอคัส (Caucus) และไพรมารี (Primary) ซึ่งแต่ละรัฐจะใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามที่ยึดถือปฏิบัติมานาน

 

ระบบคอคัส คือการประชุมของบรรดาแกนนำพรรคหรือสมาชิกพรรคตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการนัดหมาย ซึ่งจะเป็นโรงเรียน หอประชุม โรงยิม ร้านอาหาร หรือสถานที่สาธารณะใดก็ได้ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับตัวเลือกผู้สมัครและนโยบายต่างๆ ก่อนจะมีการลงคะแนน ซึ่งการโหวตอาจใช้วิธีหย่อนบัตรลงในหีบหรือยกมือโหวตแบบเปิดเผย โดยผู้มีสิทธิโหวตจะต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น

 

ส่วนระบบไพรมารี เป็นการเลือกตั้งขั้นต้นที่นิยมใช้ในหลายรัฐของประเทศ เป็นการลงคะแนนหรือกาชื่อผู้สมัครในคูหาเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกแคนดิเดตของพรรคโดยตรง ซึ่งบางรัฐกำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้นจึงจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบไพรมารีของพรรคนั้นๆ ได้ แต่บางรัฐก็อนุญาตให้ร่วมโหวตได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคมาก่อน

 

ส่วนสถานที่จัดการเลือกตั้งไพรมารีนั้นสามารถเป็นได้ทั้งโรงเรียน ห้องสมุด หรือสถานที่อื่นๆ ตามแต่จะกำหนด

 

เมื่อแข่งขันในศึกเลือกตั้งขั้นต้นครบทุกรัฐแล้ว แต่ละพรรคจะไปโหวตรับรองแคนดิเดตประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในที่ประชุมใหญ่ของพรรค (National Convention) จากนั้นผู้สมัครจะเริ่มแคมเปญหาเสียงในนามตัวแทนพรรคต่อไป

 

สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย และมีคะแนนนำในการเลือกตั้งขั้นต้นของรีพับลิกันแบบม้วนเดียวจบ โดยที่คู่แข่งต่างทยอยถอนตัว ซึ่งในการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม ทรัมป์ได้รับการรับรองในที่ประชุมให้เป็นแคนดิเดตพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการ โดยทรัมป์เลือก เจ.ดี. แวนซ์ เป็นคู่หูชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

 

ส่วนเดโมแครตมีการเปลี่ยนม้ากลางศึก เมื่อ โจ ไบเดน ที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นมาตลอดตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร หลังทำผลงานได้ย่ำแย่ในการดีเบตกับทรัมป์ที่แอตแลนตาเมื่อเดือนมิถุนายน จนเกิดกระแสกดดันจากภายในพรรคให้เขาถอนตัว ซึ่งไบเดนประกาศสนับสนุน คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีให้รับไม้ต่อจากเขา และแฮร์ริสก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคอย่างล้นหลาม จนได้รับการรับรองให้เป็นแคนดิเดตของเดโมแครตอย่างเป็นทางการในที่ประชุมใหญ่ที่ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคม ซึ่งแฮร์ริสเลือก ทิม วอลซ์ เป็นคู่หูชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดี

 

ทรัมป์และแฮร์ริสกำหนดวันดีเบตประชันวิสัยทัศน์ที่ช่อง ABC ในวันที่ 10 กันยายน ส่วน เจ.ดี. แวนซ์ และทิม วอลซ์ เลือกดีเบตแสดงวิสัยทัศน์รองประธานาธิบดีในวันที่ 1 ตุลาคม ทางช่อง CBS

 

หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนแล้ว จะมีการนับคะแนนและประกาศผลต่อไป จากนั้นว่าที่ประธานาธิบดีจะมีเวลาเตรียมตัวก่อนเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2025

 

ตามปกติพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีจะจัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคมของทุกๆ 4 ปีที่อาคารรัฐสภา หรือ US Capitol กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ถ้าวันนั้นตรงกับวันอาทิตย์ จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 21 มกราคม

 

 

คุณสมบัติผู้สมัครประธานาธิบดี:

 

  • เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด
  • อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
  • อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 14 ปี

 

พรรคการเมือง:

สหรัฐฯ มีพรรคการเมืองมากกว่า 2 พรรค แต่รีพับลิกันและเดโมแครตเป็นพรรคใหญ่ที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 1852 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีทุกคนล้วนมาจากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน นอกจากนี้สมาชิกของทั้งสองพรรคยังคุมเก้าอี้ในสภาคองเกรส ผู้ว่าการรัฐ และสภาระดับรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย

 

 

ในประวัติศาสตร์ มีประธานาธิบดีที่มาจากรีพับลิกัน 19 คน และเดโมแครต 15 คน

 

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง:

 

  • เป็นพลเมืองอเมริกัน
  • อายุ 18 ปีขึ้นไป

 

 

ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดี คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) สำคัญอย่างไร:

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะตัดสินชัยชนะกันผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ไม่ได้ตัดสินด้วยคะแนนดิบทั่วประเทศ (Popular Vote) เหมือนหลายประเทศ ดังนั้นจึงอาจถือว่าไม่ใช่การโหวตเลือกโดยตรงจากประชาชน โดยรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดไว้ว่า คณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐจะมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส. 435 คน + วอชิงตัน ดี.ซี. 3 คน) และสมาชิกวุฒิสภา (สว. 100 คน) ตามสัดส่วนที่นั่งของรัฐนั้นๆ ในสภาคองเกรส ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งหมด 538 คน

 

ผู้สมัครประธานาธิบดีที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละรัฐ จะได้คะแนนเสียงจากผู้แทนผู้เลือกตั้งไปทั้งรัฐ หรือที่เรียกว่า Winner Takes All (ใช้กับ 48 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีจำนวนผู้แทนคณะเลือกตั้งมากที่สุดที่ 54 คน เพราะเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุด (สส. 52 คน + สว. 2 คน) หากใครชนะในรัฐนี้ได้ก็จะได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด 54 เสียง

 

ส่วนเนแบรสกาและเมน เป็นเพียง 2 รัฐที่ไม่ได้ใช้ระบบ Winner Takes All หรือผู้ชนะได้ไปทั้งหมดเหมือนอีก 48 รัฐและวอชิงตัน ดี.ซี. แต่จะมีการแบ่งคะแนนส่วนหนึ่งจากผู้ชนะแบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย โดยเนแบรสกามีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 5 เสียง แบ่งสัดส่วนเป็น 2 คะแนน Electoral Vote ให้กับผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในรัฐ หรือ Popular Vote และอีก 3 คะแนนให้กับผู้ชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งรวม 3 เขต เช่นเดียวกับรัฐเมน ที่แบ่งสัดส่วน 2 คะแนน Electoral Vote ให้กับผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในรัฐ และอีก 2 คะแนนให้กับผู้ชนะแต่ละเขตรวม 2 เขต ซึ่งตามกฎเกณฑ์นี้จะทำให้เดโมแครตและรีพับลิกันมีโอกาสได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งแบบไม่หมดทั้งรัฐ หรือแบ่งคะแนนเสียงให้กับอีกพรรคหนึ่งได้

 

การที่ผู้สมัครจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้ จะต้องได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) อย่างน้อย 270 เสียง ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญคือการคว้าชัยชนะในรัฐที่เป็น Swing State หรือรัฐสมรภูมิ (Battleground State) เพราะอาจตัดสินผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งได้

 

 

รัฐ Swing State หรือ Battleground State คืออะไร มีรัฐไหนบ้าง

รัฐที่เรียกว่า Swing State ถือเป็นสมรภูมิการเลือกตั้ง หรือ Battleground State ที่ดุเดือดและน่าจับตาในการเลือกตั้งทุกครั้ง เพราะเป็นรัฐที่คาดเดาได้ยากว่าจะเลือกผู้สมัครจากเดโมแครตหรือรีพับลิกัน เพราะทั้งสองพรรคต่างมีคะแนนสนับสนุนสูสี หรือเคยสลับกันแพ้ชนะในอดีต ผลการเลือกตั้งจึงออกได้สองหน้า รัฐ Swing State อาจเรียกกันว่ารัฐสีม่วง (ไม่ฟ้าแบบเดโมแครต หรือไม่แดงแบบรีพับลิกัน) ดังนั้นผู้สมัครจึงมักเลือกหาเสียงในรัฐเหล่านี้มากเป็นพิเศษในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

 

รัฐที่จัดเป็น Battleground State ในการเลือกตั้งปี 2024 ตามโพลหลายสำนักและมุมมองนักวิเคราะห์ชั้นนำมี 7 รัฐ ประกอบด้วย 3 รัฐในเขตมิดเวสต์และภาคตะวันออก ได้แก่ มิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย และ 4 รัฐในเขต Sun Belt ทั้งเซาท์อีสต์และเซาท์เวสต์ ได้แก่ นอร์ทแคโรไลนา, จอร์เจีย, แอริโซนา และเนวาดา

 

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เลือกใครบ้าง?

 

 

  • ประธานาธิบดี: เป็นการชิงชัยระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ คามาลา แฮร์ริส จากเดโมแครต หากทรัมป์ชนะ จะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แบบไม่ติดต่อกัน แต่หากแฮร์ริสชนะ จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

 

 

  • รองประธานาธิบดี: การโหวตเลือกประธานาธิบดีจะเป็นการเลือกรองประธานาธิบดีที่ลงสมัครกันเป็นคู่ด้วย โดยคู่หูของทรัมป์ในปีนี้เปลี่ยนจาก ไมค์ เพนซ์ เป็น เจ.ดี. แวนซ์ ส่วนคู่หูของแฮร์ริสคือ ทิม วอลซ์

 

  • สมาชิกวุฒิสภา: สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ซึ่งทุกๆ 2 ปี (รวมการเลือกตั้งกลางเทอมและการเลือกตั้งประธานาธิบดี) จะมีการเลือก สว. ที่หมดวาระ 1 ใน 3 ของสภา

 

ก่อนการเลือกตั้งปี 2024 พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาหรือสภาสูง ด้วยจำนวน สว. 51 คน (รวมผู้สมัครอิสระ 4 คนที่เลือกอยู่ฝั่งเดโมแครต) ขณะที่รีพับลิกันมีจำนวน สว. 49 คน

 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีเก้าอี้ สว. ว่างลงให้ชิงชัย 34 ที่นั่ง (รวมเลือกตั้งพิเศษในรัฐเนแบรสกา) ซึ่งจำนวนนี้เดโมแครตต้องชิงกลับคืน 23 ที่นั่งเพื่อรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อไป ส่วนรีพับลิกันต้องการ 13 ที่นั่งเพื่อกลับมาครองเสียงข้างมาก (เดโมแครตมี สว. อยู่ในมือที่ยังไม่หมดวาระ 28 คน รีพับลิกันมี สว. ที่ยังไม่หมดวาระ 38 คน)

 

  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 435 คน จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี (ตรงกับวันเลือกตั้งกลางเทอมของประธานาธิบดีและการเลือกตั้งประธานาธิบดี) พรรคที่ได้ สส. 218 ที่นั่งขึ้นไปจะได้ครองเสียงข้างมากในสภาล่าง

 

ก่อนการเลือกตั้ง พรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรที่จำนวน 220 ที่นั่ง ในขณะที่เดโมแครตมี สส. 212 ที่นั่ง (ว่าง 3 ที่นั่ง) ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ เดโมแครตจำเป็นต้องชิงที่นั่งจากรีพับลิกันให้ได้เพิ่มอย่างน้อย 6 ที่นั่ง เพื่อให้ได้อย่างน้อย 218 ที่นั่ง หากต้องการกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง

 

 

  • ผู้ว่าการรัฐ: สหรัฐฯ ประกอบด้วย 50 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐด้วย ซึ่งผู้ว่าการรัฐส่วนใหญ่จะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ยกเว้นรัฐนิวแฮมป์เชอร์และเวอร์มอนต์ที่มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี

 

โครงสร้างสภาคองเกรส

 

 

  • วุฒิสภา

วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย สว. ทั้งหมด 100 คน โดยที่แต่ละรัฐมีที่นั่งในวุฒิสภาเท่ากันคือรัฐละ 2 คน โดยไม่สนว่ารัฐนั้นจะมีประชากรมากน้อยแค่ไหน เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐขนาดเล็กมีสิทธิมีเสียงในสภาสูงพอๆ กับรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างของสภาสูงไว้แบบนี้ก็เพื่อปกป้องรัฐขนาดเล็กไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิจากรัฐขนาดใหญ่ หลังจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐขนาดเล็กมีสิทธิมีเสียงที่น้อยกว่าในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว

 

การเลือกตั้ง สว. นั้นจะเป็นการเลือกตั้งในระดับรัฐ กล่าวคือทั้งรัฐถือเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี (ไม่แยกลงเป็นเขตย่อยๆ แบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) วาระดำรงตำแหน่งของ สว. นั้นอยู่ที่ 6 ปี และทุกๆ 2 ปีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 จะครบวาระและต้องเลือกตั้งใหม่เพื่อหาผู้มาดำรงตำแหน่งในวาระถัดไป

 

 

  • สภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ประกอบด้วย สส. ทั้งหมด 435 คน โดยที่แต่ละรัฐจะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไม่เท่ากัน รัฐที่มีขนาดใหญ่มีประชากรมากก็จะมีสัดส่วนเก้าอี้ สส. จำนวนมาก (เช่น แคลิฟอร์เนียมีถึง 52 ที่นั่ง) รัฐที่มีประชากรน้อยก็จะมีเก้าอี้ สส. น้อย (รัฐขนาดเล็กอย่างอะแลสกา เดลาแวร์ ไวโอมิง นอร์ทดาโคตา เซาท์ดาโคตา และเวอร์มอนต์มี สส. แค่คนเดียว) การจัดการเลือกตั้งเป็นไปในลักษณะเขตเดียวเบอร์เดียว และไม่มี สส. ระบบบัญชีรายชื่อ

 

การครองเสียงข้างมากให้ได้ในทั้งสองสภามีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เพราะการที่พรรคจะผ่านร่างกฎหมายเพื่อดำเนินนโยบายของพรรคให้ได้นั้น ร่างกฎหมายจำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา

นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรยังเป็นสภาหลักที่มีอำนาจในการควบคุมงบประมาณแผ่นดิน (The Power of the Purse) เพื่ออนุมัติว่าหน่วยงานและโครงการใดจะได้งบประมาณจากรัฐบาลกลาง ดังนั้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส. ในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกประธานาธิบดี

 

 

แนวโน้ม-โอกาส ทรัมป์-แฮร์ริส ชนะรัฐไหน?

ในมุมมองนักวิเคราะห์ของ THE STANDARD ซึ่งสอดคล้องกับโพลหลายสำนักนั้น ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ต่างมีโอกาสกวาดคะแนนเสียงในรัฐสีเข้มที่เป็นป้อมปราการของเดโมแครตและรีพับลิกันได้ไม่ยาก ส่วนรัฐสีอ่อนคือมีแนวโน้มที่ประชาชนจะเลือกพรรคนั้น โดยอิงจากฐานเสียงเดิมที่ยังเหนียวแน่นและโพลสำรวจล่าสุด

 

ส่วนรัฐที่ต้องชิงดำคือบรรดารัฐสีม่วง หรือ Battleground State ที่ผลยังออกได้สองหน้า และมีจำนวน Electoral College ให้ช่วงชิงถึง 93 คะแนน ซึ่งรัฐเหล่านี้จะตัดสินว่าใครคือผู้ชนะ

 

โดยหากยึดตามโพลต่างๆ และความน่าจะเป็นว่าทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ต่างชนะในรัฐสีเข้มและสีอ่อน จะทำให้แฮร์ริสและทรัมป์น่าจะมีคะแนนเสียงจาก Electoral College ในมือจำนวน 226 และ 219 เสียง ตามลำดับ ซึ่งแฮร์ริสจะต้องการคะแนนเพิ่มอีกอย่างน้อย 44 คะแนนจากรัฐ Swing State ขณะที่ทรัมป์ต้องการอีก 51 คะแนน ผลจะเป็นอย่างไร อีกไม่นานเราจะได้ทราบกัน

 

 

รู้ผลเลือกตั้งเมื่อไร:

ตามปกติ เราจะทราบผลว่าใครเป็นผู้ชนะในคืนวันเลือกตั้ง แต่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ก็อาจยืดเยื้อเหมือน 4 ปีก่อนหน้า และอาจยังไม่ทราบผลแพ้ชนะในค่ำคืนวันนั้น เนื่องจากมีคนอเมริกันจำนวนมากใช้สิทธิลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งที่ส่งทางไปรษณีย์นั้นมีความซับซ้อนกว่าบัตรเลือกตั้งที่หย่อนในคูหา โดยมีขั้นตอนการเปิดซอง การตรวจสอบบัตรเลือกตั้งว่าเป็นของจริง และการตรวจสอบลายเซ็นของคนในบัตรว่าตรงกับที่เคยเซ็นไว้เพื่อระบุตัวตนหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้การนับคะแนนบัตรจำนวนหนึ่งอาจเกิดขึ้นหลังวันที่ 5 พฤศจิกายน เพราะในหลายๆ รัฐมีการออกกฎหมายที่ระบุว่าบัตรเลือกตั้งที่ผ่านการประทับตราไปรษณีย์ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนจะต้องนับคะแนนด้วย แม้ว่าบุรุษไปรษณีย์จะนำบัตรเลือกตั้งมาส่งให้สำนักงานเลือกตั้งหลังวันที่ 5 พฤศจิกายนก็ตาม

 

โดยส่วนใหญ่หน่วยเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนที่ส่งทางไปรษณีย์ภายใน 2-3 วันนับจากวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยมีข้อยกเว้นบางประการ ซึ่งรัฐสำคัญบางรัฐอนุโลมให้ส่งมาช้ากว่านั้นได้

 

ซึ่งรัฐที่ชี้ชะตาผลเลือกตั้งอย่างเพนซิลเวเนียและวิสคอนซิน ก็มีการลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ด้วย รวมถึงรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่มีการใช้กฎหมายใหม่เรื่องการแสดงตัวตนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้กระบวนการนับคะแนนล่าช้าลง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่เราจะไม่ได้ทราบผลในคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน

 

เมื่อทราบผลการเลือกตั้งแล้ว คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการที่รัฐของตนในวันที่ 17 ธันวาคม ก่อนที่จะส่งบัตรลงคะแนนไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

ผลการเลือกตั้งจะออกหน้าไหน ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ระหว่างทรัมป์หรือแฮร์ริส อีกไม่นานเราก็จะได้ทราบกัน

 

 


 

เกาะติดผลเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ไม่พลาดทุกประเด็นสำคัญ อัปเดตคะแนนนาทีต่อนาที เจาะทุกรัฐ ทุกสนามเลือกตั้ง พร้อมวิเคราะห์สด คาดการณ์แนวโน้มผลกระทบต่อไทยและโลก ทั้งมิติภูมิรัฐศาสตร์, เศรษฐกิจ, การค้า, การลงทุน และเทคโนโลยี

 

พบกันใน DECODING THE WORLD LIVE: เส้นทางสู่ทำเนียบขาว 

 

ดำเนินรายการโดย เต๋า-ณัฏฐา โกมลวาทิน, เผย-วีณารัตน์ เลาหภคกุล และ นุ่มนิ่ม-ตรีชฎา โชคธนาเสริมสกุล

 

พร้อมแขกรับเชิญพิเศษ

  • ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง
  • ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ. ดร.ปราณี ทิพย์รัตน์ อาจารย์อาวุโส ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ Visiting Fellow, Harvard Kennedy School
  • ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
  • ชาตรี โรจนอาภา หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์
  • รัตพล อ่อนสนิท หัวหน้าภาคภาษาไทย VOA 

 

วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ทาง YouTube และ Facebook ของ THE STANDARD

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X