เป็นข่าวที่ไม่มีใครคาดคิดและสั่นสะเทือนไปทั้งโลกลูกหนัง เมื่อทีมชาติสเปนตัดสินใจปลด ยูเลน โลเปเตกี จากการเป็นโค้ชทีมชาติก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นเพียงแค่ 1 วัน ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการตัดสินใจซึ่งนำมาด้วยคำถามตามมาไม่น้อย
แน่นอนว่าสาเหตุของการปลดโลเปเตกีเกิดจากการที่มีการประกาศยืนยันจากทีม ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด ว่าเขาจะเข้ารับตำแหน่งโค้ชคนใหม่ของทีมหลังจบฟุตบอลโลกต่อจาก ซีเนดีน ซีดาน ซึ่งประกาศอำลาทีมแบบสุดช็อกเช่นกัน
การประกาศดังกล่าวถูกมองว่า ‘ผิดกาลเทศะ’ อย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการประกาศก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้นแค่ 2 วันเท่านั้น ซึ่งไม่น่ามีเหตุผลความจำเป็นอะไรที่เรอัล มาดริด หรือโลเปเตกีจะต้องรีบร้อนขนาดนั้น
เพราะการประกาศดังกล่าวส่งผลต่อบรรยากาศในแคมป์ทีมชาติอย่างรุนแรงไม่ต่างจากการดึงเลโก้ชิ้นล่างสุดออก และทำให้งานที่พยายามสร้างกันมาสั่นคลอนและมีโอกาสพังทลายลงมาได้อย่างง่ายดาย
ไม่นับว่าโลเปเตกีเองก็เพิ่งจะต่อสัญญากับทีมชาติสเปนไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยสัญญามีระยะเวลาถึงปี 2020 ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ชัดเจนของทางสหพันธ์ฟุตบอลสเปนว่าต้องการให้กุนซือวัย 51 ปีคุมทีมต่อไปในระยะยาว
การตัดสินใจไปรับงานกับเรอัล มาดริด แถมประกาศแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่าย ‘รับไม่ได้’
โดยเฉพาะทางด้าน หลุยส์ รูเบียเลส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ผู้ที่เป็นคนตัดสินใจที่จะ ‘ปลด’ โลเปเตกีออกจากตำแหน่งทันทีแบบไม่สนใครหน้าไหนเหมือนกัน รวมถึง เซร์คิโอ รามอส กัปตันทีมและแกนนำอาวุโสในทีมที่พยายามจะ ‘ปราม’ ไม่ให้รูเบียเลสตัดสินใจหักด้ามพร้าด้วยเข่า
แต่ความพยายามดังกล่าวไม่เป็นผล เพราะรูเบียเลสมองว่าโลเปเตกี ‘ทรยศ’ ต่อทุกคน
แม้กระทั่งกับตัวเขาเองก็ยังทราบเรื่องก่อนหน้าการประกาศของเรอัล มาดริด เพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น
กิลเยม บาลาเก ผู้สื่อข่าวสเปนชื่อดัง ให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมว่าการตัดสินใจที่เด็ดขาดของรูเบียเลสมาจากแนวทางในการบริหารของประธานสหพันธ์ลูกหนังกระทิงดุที่ให้ ‘คำมั่น’ กับทุกฝ่ายเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้ว
คำมั่นนั้นคือการที่เขาจะบริหารวงการฟุตบอลสเปนอย่าง ‘โปร่งใส’
การลอบเจรจากับเรอัล มาดริด ของโลเปเตกีคือการกระทำที่ไม่โปร่งใสและขัดต่อหลักธรรมาภิบาลขององค์กร
บาลาเกเปิดเผยว่ารูเบียเลสเป็นคนที่มีบุคลิกแข็งกร้าว ทำให้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วทันที เพราะเชื่อว่ามันมีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องของผลการแข่งขันในสนาม
“การชนะเป็นเรื่องสำคัญ การมีโค้ชที่ดีที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราต้องทำทุกอย่างอย่างถูกต้องด้วย ในเวลานี้มันอาจจะยากลำบาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน”
เป็นจุดยืนที่เด็ดเดี่ยวของมาทาดอร์ที่ชื่อรูเบียเลส
หลุยส์ รูเบียเลส (กลาง) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ผู้ตัดสินใจปลดโลเปเตกี (ซ้าย) แบบสายฟ้าฟาด
เส้นทางอลหม่านของโลเปเตกี
เรื่องที่น่าประหลาดใจคือโลเปเตกีมีเส้นทางการทำงานที่วุ่นวายอยู่ไม่น้อย
ย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2016 เขาเคยได้รับข้อเสนอจากทีมวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ให้คุมทีม ซึ่งเกือบจะตอบรับข้อเสนออยู่แล้ว แต่สุดท้ายได้รับการทาบทามจากทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ซึ่งเวลานั้นยังหาใครที่เหมาะสมจะทำงานต่อจากขรัวเฒ่า บิเซนเต เดล บอสเก ไม่ได้
สุดท้ายโลเปเตกีก็ทิ้งข้อเสนอจากวูล์ฟเพื่อรับงานคุมทีมสเปนอีก
ครั้งนี้จึงมีความรู้สึกที่คล้ายกัน เพียงแต่สลับเป็นเขาตอบรับข้อเสนอจากเรอัล มาดริด ในระหว่างที่ยังคุมทีมชาติสเปนที่กำลังเตรียมทำศึกฟุตบอลโลกอยู่
ทั้งนี้เรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจคือช่วงเวลาในการประกาศข่าวที่ดูเร่งรีบอย่างน่าประหลาดใจ
ความจริงหากเขาหรือเรอัล มาดริด ชะลอการประกาศข่าวออกไปเป็นในช่วงหลังจบฟุตบอลโลก การตัดสินใจนี้จะไม่มีปัญหาเลย
ทุกอย่างนั้นเข้าใจได้ เพราะเรอัล มาดริด เป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และโอกาสในการทำงานกับสโมสรระดับนี้ไม่ได้มีทุกวัน
และมากกว่านั้นคือการที่โลเปเตกีเองก็เป็น ‘สายเลือด’ ของสโมสรด้วย เพราะเขาเคยอยู่กับทีมมาตั้งแต่ยังเป็นนักเตะเยาวชนในทีมกาสติญา หรือทีมชุดเล็กของเรอัล มาดริด และเคยคุมทีมกาสติญาเมื่อ 10 ปีที่แล้วด้วย ก่อนที่จะหันเหมาทำงานกับสหพันธ์ฟุตบอลสเปน โดยรับงานคุมทีมในระดับเยาวชนมาทุกชุดตั้งแต่ U-19, U-20 และ U-21 จนมาได้โอกาสในการคุมทีมชุดใหญ่
ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ โลเปเตกีก็เป็นหนึ่งในโค้ชที่จะได้รับการจดจำในเส้นทางชีวิตที่แสนวุ่นวายแล้ว
เซร์คิโอ รามอส และอันเดรส อิเนียสตา ต้องประคับประคองทีมให้ได้
อนาคตของทีม ‘กระทิงดุ’ ในฟุตบอลโลก 2018
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจ ‘เปลี่ยนกระทิงกลางศึก’ ของสเปนในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนอย่างต่ออดีตแชมป์โลกเมื่อปี 2010 อย่างช่วยไม่ได้
เพราะแม้โลเปเตกีจะถูกตราหน้าเป็นผู้ทรยศไปแล้วในเวลานี้ แต่ก็เป็นคนที่รู้จักทีมชาติสเปนเป็นอย่างดีในทุกซอกทุกมุม
และผลงานนับตั้งแต่รับตำแหน่งต่อจากเดล บอสเก ก็ถือว่าไม่เลว คุมทัพไป 20 นัด ไม่เคยแพ้แม้แต่เกมเดียว เป็นการชนะ 14 และเสมอ 6
สเปนภายใต้การนำของเขาไม่ได้เป็นทีมที่ถึงขั้น ‘ยอดเยี่ยม’ ใกล้เคียงกับทีมชุดไร้เทียมทานเหมือนยุคของ หลุยส์ อราโกนเญส ผู้ล่วงลับ หรือเดล บอสเก ที่คว้าแชมป์ยูโร 2 สมัยและแชมป์โลก 1 สมัย
แต่อย่างน้อย ‘ลา โรฮา’ ก็เล่นได้อย่างเป็นระบบ มีระเบียบ และมีการถ่ายเลือดของนักเตะจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ได้ค่อนข้างดี
การสูญเสียโลเปเตกีก่อนหน้าจะลงสนามนัดแรกที่ต้องเจอกับทีมแข็งแกร่งอย่าง โปรตุเกสจึงเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวง
อย่างไรก็ดี หากมองลงไปในรายละเอียด สเปนถือเป็นชาติที่มีระบบฟุตบอลที่แข็งแกร่ง
ทีมชาติทุกชุดจะเล่นในระบบและทิศทางเดียวกัน ดังนั้นโค้ชในทีมชุดเยาวชนจึงสามารถมารับตำแหน่งในทีมชาติชุดใหญ่ได้อย่างไม่เคอะเขินมากนัก
พูดง่ายๆ คือใครมาคุม หากไม่ไป ‘รื้อ’ ใหม่ ระบบของสเปนก็จะยังทำงานเหมือนเดิม เล่นแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแกนของทีมยังแกร่งทั่วแผ่นตั้งแต่ ดาวิด เด แฮ ในตำแหน่งผู้รักษาประตู, เซร์คิโอ รามอส ปราการหลังกัปตันทีม, อันเดรส อิเนียสตา จอมอัจฉริยะ และดิเอโก คอสตา หัวหมู่ทะลวงฟัน
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ตัวโค้ชว่าจะมีความเข้าใจในตัวผู้เล่นที่มีอยู่แค่ไหน และเหนืออื่นใดคือจิตวิทยาในการทำทีมว่าจะสามารถประสานใจเข้าด้วยกันได้หรือไม่
ล่าสุดมีการยืนยันว่าทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลสเปนเลือก เฟร์นานโด เอียร์โร อดีตกัปตันทีมเข้ามารับตำแหน่งแทนโลเปเตกี ซึ่งแม้ฝีไม้ลายมือในการคุมทีมอาจจะแทบไม่มี เคยคุมแค่เรอัล โอเบียโด แค่ทีมเดียวในฤดูกาล 2016-17
แต่อย่างน้อยเอียร์โรก็ทำงานในฐานะผู้อำนวยการเทคนิคของสหพันธ์ฟุตบอลสเปน รู้เห็นเรื่องภายในมาตลอด และประสบการณ์มากล้นในฐานะทีมชาติ ไม่นับบารมีที่สั่งสมมานานน่าจะช่วยในการประคองสถานการณ์ได้
เพียงแต่งานนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเอียร์โรหรือใครคนใดคนหนึ่ง
ทุกคนในสเปนต้องช่วยกัน ตั้งแต่ประธานสหพันธ์ โค้ช สตาฟฟ์ นักฟุตบอล รวมถึงแฟนๆ
ไม่เช่นนั้นนี่จะเป็นฟุตบอลโลกแห่งหายนะของทีมกระทิงดุอย่างแท้จริง
Photo: Reuters
อ้างอิง: