×

คนไทยว่างงานพุ่งแตะ 4.3 แสนคน สูงสุดรอบ 4 ไตรมาส หากเศรษฐกิจไม่ฟื้น คนเสี่ยงตกงานต่อ

26.08.2024
  • LOADING...

สภาพัฒน์เผยอัตราว่างงานเพิ่มครั้งแรกนับตั้งแต่การฟื้นตัวจากโรคโควิดระบาด ส่วนจำนวนคนว่างงานในไทยพุ่งแตะ 4.3 แสนคน ซึ่งสูงสุดรอบ 4 ไตรมาส ฉุดจำนวนผู้มีงานทำในตลาดแรงงานเหลือ 39.5 ล้านคน จับตาหากความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่ม จ่อกระทบอัตราการจ้างงาน

 

วันนี้ (26 สิงหาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเปิดตัวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/67 โดยระบุว่า การจ้างงานในไตรมาสนี้ลดลงตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลง 0.4%YoY หรือลดลงจากไตรมาส 2/66

 

สำหรับการว่างงานในไตรมาส 2/67 จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.3 แสนคน นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส หรือนับตั้งแต่ไตรมาส 2/66

 

เมื่อเทียบกับกำลังแรงงานไทยทั้งหมด 40.2 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานในไทยไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับจากการฟื้นตัวจากโรคโควิดระบาดเมื่อปี 2565 ซึ่งจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เคยมีงานทำมาก่อนด้วย

 

 

หากเศรษฐกิจและ SMEs ไม่ฟื้น! การจ้างงานอาจได้รับผลกระทบต่อ

 

ตามรายงานระบุว่า SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึง 35.2%

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน SMEs กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ในไตรมาส 4/66 ซึ่งอยู่ที่ 7.2% เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในไตรมาส 1/62

 

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือนส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น

 

นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลต่อต้นทุนและเป็นข้อจำกัดในการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ โดยดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.1% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ SMEs ทำกำไรลดลงได้ และสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน SMEs ได้ จึงอาจต้องมีการดำเนินนโยบายที่สร้างกำลังซื้อได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการควบคุมต้นทุนด้านต่างๆ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านการเงินให้แก่ SMEs

 

เปิดผลกระทบอุทกภัยต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

 

รายงานระบุด้วยว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้บางพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า สถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตรจำนวน 15 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 308,238 ไร่ และเกษตรกร 47,944 ราย

 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนอง 60-80% ของพื้นที่ รวมถึงมรสุมข้างต้นจะกลับมามีกำลังแรงและอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่พื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหาย

 

โดยความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรรวมถึงต้นทุนในการลงทุนเพาะปลูกครั้งใหม่ และอาจกระทบต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรด้วย

 

หน่วยงานต่างๆ จึงต้องเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยทั้งที่กำลังเกิดขึ้นและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X