×

ตำรวจสั่งปิดร้านยาดองย่านมีนบุรี-คลองสามวา หลังพบผู้ป่วยเป็นพิษจากสุราเถื่อนแล้ว 19 ราย พร้อมตั้ง รพ.นพรัตนราชธานี เป็นศูนย์บัญชาการ

โดย THE STANDARD TEAM
25.08.2024
  • LOADING...

วานนี้ (24 สิงหาคม) สมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าร่วมประชุมกรณีประชาชนดื่มสุรา (เมทานอล) มีอาการเป็นพิษ เข้าโรงพยาบาลหลายราย

 

โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีที่เป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์รายงานว่า พบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 และต่อมามีผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวด้วยอาการเดียวกัน ขณะนี้มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 19 ราย โดยผู้ป่วยมีอาการ Methanol Intoxication สอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยดื่มสุราจากร้านเหล้ายาดองในพื้นที่ถนนหทัยราษฎร์, ถนนสามวา, ถนนเจริญพัฒนา และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบพื้นที่เขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

 

ต่อมาสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี สถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ และกรมสรรพสามิตพื้นที่ 5 ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าร้านจำหน่ายสุรายาดองทั้ง 3 ร้าน ซื้อสุรามาจากร้านแห่งหนึ่งในซอยหทัยราษฎร์ 21 จึงเก็บตัวอย่างส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจสอบส่วนผสมที่เป็นอันตราย และสั่งปิดร้านเหล้ายาดองต้องสงสัยทุกร้านแล้ว

 

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ประสานงานหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กรมสรรพสามิตในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการดูแลรักษาของแพทย์และพยาบาล รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเถื่อน เนื่องจากอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 

 

การดื่มสุราเถื่อนเสี่ยงทำให้ได้รับสารพิษ อันจะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เส้นประสาทตา และร่างกายทุกระบบจากภาวะเลือดเป็นกรด เมื่อผู้ป่วยดื่มเหล้าที่มีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์ เมื่อร่างกายดูดซึมเมทิลแอลกอฮอล์จะถูกส่งไปเผาผลาญที่ตับ ซึ่งตัวฟอร์มาลดีไฮด์นี้เป็นพิษสูงต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง 

 

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า อาการของผู้ป่วยที่เกิดจากพิษของเมทิลแอลกอฮอล์ มักจะมีประวัติดื่มเหล้าที่ผลิตเอง ยาดอง หรือเหล้าที่ราคาถูกเกินจริง หรือมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายอื่นๆ อาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากดื่มไปแล้ว 16-24 ชั่วโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างฟอร์มาลดีไฮด์และกรดฟอร์มิกจากกระบวนการเผาผลาญที่เกิดขึ้นในร่างกาย 

 

ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่แฮงก์เหมือนการดื่มเหล้าทั่วไป ร่วมกับเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้งสองข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และเสียชีวิตจากภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง และระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานล้มเหลว 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยอาจไม่จำเพาะเจาะจงมาก ดังนั้น ประวัติจากญาติหรือเพื่อนที่สามารถบอกเล่าพฤติกรรมการดื่ม หรือมีตัวอย่างของเครื่องดื่มมาด้วย จะช่วยให้นึกถึงภาวะนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดภาวะความผิดปกติทางระบบประสาท และลดอัตราการเสียชีวิตได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X