วันนี้ (23 สิงหาคม) ชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจังหวัดแพร่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยในช่วงเวลากลางดึกของเมื่อคืนนี้ มีมวลน้ำจำนวนมากไหลจากลำน้ำยมมาในพื้นที่จังหวัดแพร่ ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ รวม 18 ตำบล 65 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 99 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน เนื่องจากเกิดฝนตกหนักและได้ข้ามลำห้วยแม่เต้นบริเวณท้ายหมู่บ้าน และถูกกระแสน้ำจากลำห้วยแม่เต้นพัดจมน้ำเสียชีวิตบริเวณลำห้วย และมอบศพให้กับญาตินำไปบำเพ็ญกุศลแล้ว
ในขณะนี้ยังต้องเฝ้าระวังมวลน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในแม่น้ำยมอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจเข้าท่วมพื้นที่อาศัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนเตรียมตัวรับมือโดยเร่งด่วน
ชุติเดชกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมในพื้นที่จังหวัดแพร่มีมวลน้ำจำนวนมากกำลังไหลผ่าน ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นรวม 4 อำเภอ 18 ตำบล 65 หมู่บ้าน 99 ครัวเรือน และช่วงสะพานข้ามลำน้ำยมบริเวณบ้านวังดิน หมู่ 9 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง ขาด ไม่สามารถสัญจรได้ เจ้าหน้าที่จึงปิดการสัญจร โดยให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น และในวันนี้สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการติดตั้งสะพานเบลีย์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้สัญจรชั่วคราวต่อไป
ชุติเดชกล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ที่คาดการณ์เบื้องต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนราชการกำลังลงพื้นที่สำรวจความช่วยเหลือ ทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่สองฝั่งลำน้ำยม ดังนี้
- อำเภอเมืองแพร่ ได้แก่ ตำบลวังหงส์, แม่หล่าย, ท่าข้าม, แม่ยม, วังธง, แม่คำมี และป่าแมต
- อำเภอสูงเม่น ได้แก่ ตำบลเวียงทอง, ร่องกาศ, สบสาย, สูงเม่น, น้ำชำ และบ้านปง
- อำเภอเด่นชัย ได้แก่ ตำบลปงป่าหวาย, เด่นชัย และไทรย้อย
- อำเภอลอง ได้แก่ ตำบลบ้านปิน, แม่ปาน, ปากกาง, แม่ลานนา, ทุ่งแล้ง และบ่อเหล็กลอง
- อำเภอวังชิ้น ได้แก่ ตำบลแม่เกิ๋งและวังชิ้น
เจ้าหน้าที่ได้เตรียมรองรับปริมาณน้ำจากอำเภอเชียงม่วนและอำเภอปง จังหวัดพะเยา โดยการใช้ฝายแม่ยมควบคุมปริมาณน้ำหลาก หากมีปริมาณน้ำเริ่มไหลเข้าสู่ฝายแม่ยม จะหน่วงน้ำด้านเหนือฝายเพื่อชะลอปริมาณน้ำหลากลงสู่ด้านท้ายฝายอำเภอเมืองแพร่
ถ้าหากมีความจำเป็นให้รักษาพื้นที่เขตเมืองและเขตเศรษฐกิจของจังหวัดแพร่ ให้ผันน้ำลงสู่พื้นที่ทางการเกษตร มอบหมายสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่และสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่หาแนวทางเตรียมพร้อมในการเยียวยาเกษตรกร ในกรณีผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างความแตกต่างของสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่เมื่อปี 2554 มีพายุทั้งหมด 5 ลูก ทำให้มีปริมาณน้ำฝน น้ำท่า และการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำมาก
ขณะที่ปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดแพร่ไม่มีฝนตก ไม่มีการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ มีเพียงปริมาณน้ำจากจังหวัดพะเยาที่ไหลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดแพร่ จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้โปรดอย่ากังวลหรือตื่นตระหนก ขอให้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะป้องกันความเสียหายให้ได้มากที่สุด
ชุติเดชระบุอีกว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายภารกิจให้กับหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำและรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ได้เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับการให้ความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งข้อมูลมาที่สายด่วนนิรภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรมที่ 1567 เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เร่งให้การช่วยเหลือต่อไป