×

ตุลาการประหาร วิกฤตอำนาจการเมืองไทย

22.08.2024
  • LOADING...

ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่หลายคนไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นกับการเมืองไทย เมื่อทั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาและผู้นำฝ่ายบริหารถูกปลดออกจากตำแหน่ง การยุบพรรคก้าวไกล และถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของอำนาจ 3 เสาหลักในประเทศไทย ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารดูเหมือนจะถูกฝ่ายตุลาการขยายอำนาจเข้าไปในอีก 2 เสาหลัก

 

นักวิชาการนิยามปรากฏการณ์นี้ว่าคือ “ตุลาการธิปไตย” หรือ “ตุลาการประหาร” ที่หมายถึงการที่อำนาจสูงสุดของประเทศถูกควบคุมโดยฝ่ายตุลาการผ่านองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นประชาชนตามหลักประชาธิปไตย

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ก่อนมีศาลรัฐธรรมนูญ ชนชั้นนำมีเครื่องมือเดียวในการที่จะล้มล้างประชาธิปไตยก็คือการทำรัฐประหาร แต่เมื่อการทำรัฐประหารมีต้นทุนที่สูงขึ้น ชนชั้นนำไทยจึงใช้เครื่องมือที่แนบเนียนกว่าก็คือ ‘เครื่องมือทางกฎหมายผ่านศาลรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเท่ากับการยึดอำนาจโดยไม่ต้องเอารถถังออกมา

 

ที่มาขององค์กรอิสระในประเทศไทยเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใสในระบบการเมือง เพื่อให้ประเทศสามารถดำเนินไปตามหลักการประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 องค์กรอิสระเหล่านี้ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเอง กลายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นนำในสังคมไทยใช้เพื่อควบคุมและขยายอำนาจ การเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 ได้เพิ่มความซับซ้อนในการแต่งตั้งและควบคุมองค์กรอิสระ ซึ่งทำให้การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ความไม่สมดุลของอำนาจในประเทศไทยมีผลกระทบในระยะยาว ไม่เพียงแต่ในแง่ของการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมสร้างความไม่ไว้วางใจต่อสถาบันต่างๆ และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนและเสถียรภาพในเชิงนโยบายเพื่อการตัดสินใจลงทุน แต่เมื่อเสถียรภาพนั้นถูกสั่นคลอนโดยอำนาจที่เกินดุล ความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจก็ย่อมลดลงตามไปด้วย

 

ปัจจุบันอำนาจทางการเมืองในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ฝ่ายชนชั้นนำที่ครองอำนาจมายาวนาน ฝ่ายคุณทักษิณและเครือข่ายพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้บริหารประเทศในขณะนี้ (ซึ่งเคยมีความเสรีนิยมมากเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ขณะนี้นักวิชาการมองว่าข้ามขั้วมาเป็นฝั่งอนุรักษนิยมอ่อนๆ หรือฝั่งขวากลางๆ) และฝ่ายเสรีนิยมที่นำโดยพรรคประชาชน

 

แม้ทั้ง 3 ฝ่ายจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น แต่การหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด หากเราไม่สามารถสร้างกติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใสได้ การเมืองไทยก็จะยังคงติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่ทำให้สังคมไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตนี้ การสร้างองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางและยุติธรรมที่แท้จริง โดยมีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย จะช่วยฟื้นฟูความไว้วางใจในระบบการเมือง และนำพาประเทศไปสู่เสถียรภาพในระยะยาว

 

ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวหน้าได้หากยังมีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและไม่สมดุลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราทุกคนจึงต้องร่วมกันตรวจสอบและเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising