ทุกความสำเร็จมีเรื่องราวมากมายอยู่เสมอ เรื่องราวใน ‘ยุคทอง’ ของลิเวอร์พูลภายใต้การคุมทีมของ เจอร์เกน คล็อปป์ อดีตผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่ ที่ปิดฉากตำนาน 9 ปีในแอนฟิลด์ไปเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลที่แล้วก็เช่นกัน
เอียน เกรแฮม นักวิเคราะห์มือทองผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในช่วงเวลานั้น ได้เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในการทำงานผ่านหนังสือ ‘How to Win the Premier League’ เกี่ยวกับการนำการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) มาใช้กับสโมสรฟุตบอล
ด้วยวิธีการนี้ ทำให้คล็อปป์ได้นักเตะฝีเท้าดีที่มีความเหมาะสมกับแนวทางการเล่นของทีมไม่ว่าจะเป็น เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค, อลิสสัน เบ็คเกอร์, แอนดี โรเบิร์ตสัน, ซาดิโอ มาเน, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ที่กลายเป็นแกนหลักพาลิเวอร์พูลกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกหนแรก และเป็นแชมป์ลีกสูงสุดที่สโมสรรอคอยมายาวนานถึง 30 ปี
แต่กว่าจะมาถึงจุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เอียน เกรแฮม รวมถึง ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการสโมสรในขณะนั้น ต้องเจอกับบททดสอบมากมาย
ไม่ใช่แค่ยุคของคล็อปป์ แต่ต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส
และดีลของ คริสติยอง เบนเตเก ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
เอียน เกรแฮม เข้ามาทำงานกับลิเวอร์พูลในปี 2012 ปีเดียวกับ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ผู้จัดการทีมคนหนุ่มไฟแรง ที่สร้างชื่อจากการพาสวอนซีโบยบินอย่างสง่างามถึงพรีเมียร์ลีก ด้วยสไตล์การเล่นที่ตื่นตาตื่นใจประหนึ่ง Tiki-Taka ของบาร์เซโลนา จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สวอนซีโลนา’
ในช่วงนั้นร็อดเจอร์สถือว่าทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะในฤดูกาล 2013/14 ที่เกือบจะเป็นฤดูกาลแห่งความฝันของแฟนลิเวอร์พูลทุกคน เมื่อทีมลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกได้จนถึงช่วงสุดท้ายของฤดูกาล
‘Made Us Dream’ คือมอตโตของเดอะค็อปทุกคนในเวลานั้น ขณะที่ สตีเวน เจอร์ราร์ด กัปตันทีมในวัยเริ่มโรยรา ก็มีโมเมนต์ให้ทุกคนจดจำหลังนัดที่ชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ที่แอนฟิลด์ ด้วยการสั่งทุกคนมาล้อมวงกันกลางสนามแล้วบอกว่า “We Go Again” เราจะไปกันต่อ
แต่สุดท้ายความฝันก็พังทลายลง เมื่อเจอร์ราร์ดพลาดในจังหวะชี้ชะตาในเกมกับเชลซี จนพ่ายแพ้คาแอนฟิลด์ ก่อนที่ทีมจะพลาดซ้ำด้วยการนำคริสตัล พาเลซ 3 ประตู แต่จบด้วยการเสมอกัน 3-3
ทีมแห่งความฝันของร็อดเจอร์สล่มสลายลงตรงนั้นเอง หลุยส์ ซัวเรซ กองหน้าเบอร์หนึ่งชาวอุรุกวัย ย้ายไปบาร์เซโลนา และทำให้กุนซือชาวไอริชแมนต้องการศูนย์หน้าคนใหม่ ซึ่งหลังจากที่ล้มเหลวกับ ริกกี แลมเบิร์ต, ดิวอค โอริกิ และ มาริโอ บาโลเตลลี ในฤดูร้อน ปี 2014 โดยที่ทีมล้มเหลวสุดๆ จบฤดูกาลด้วยอันดับ 6
คนเดียวที่เขาเชื่อว่าจะพาทีมกลับมาได้คือ คริสติยอง เบนเตเก
Power Game ในแอนฟิลด์
แนวทางการจัดหาคน (Recruitment) ของลิเวอร์พูลที่ Fenway Sports Group (FSG) กำหนดไว้ในเวลานั้นคือ ทุกการเจรจาต้องผ่าน Transfer Committee หรือคณะกรรมการการซื้อขายผู้เล่น ก่อน โดยบุคคลระดับสูงของสโมสรจะต้องหารือร่วมกันในเวลานั้นไม่ว่าจะเป็น ไมค์ กอร์ดอน คนที่ดูแลลิเวอร์พูลอยู่เบื้องหลัง, ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ในฐานะผู้อำนวยการสโมสร และ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ในฐานะผู้จัดการทีม
โดยแนวทางเหมือนจะดี แต่มันกลายเป็นเกมอำนาจภายในสโมสรที่รุนแรง
และความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งก็คือ ดีลการหากองหน้าใหม่สำหรับตลาดรอบฤดูร้อน ปี 2015 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ร็อดเจอร์สกดดันอย่างมาก เพราะจากทีมที่ลุ้นแชมป์จนเกือบสุดทาง ลิเวอร์พูลตกไปอยู่อันดับที่ 6 ในฤดูกาล 2014/15 พลาดการได้ไปแชมเปียนส์ลีก
กองหน้าที่ซื้อมาทั้ง แลมเบิร์ต, โอริกิ และบาโลเตลลี ใช้การไม่ได้แม้แต่คนเดียวในตอนนั้น ขณะที่ แดเนียล สเตอร์ริดจ์ ก็เริ่มมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง
นักเตะที่ร็อดเจอร์สอยากได้ในตอนนั้นคือ คริสติยอง เบนเตเก หัวหอกจอมแกร่งทีมชาติเบลเยียม ซึ่งกำลังร้อนแรงกับแอสตัน วิลลา
ปัญหาคือ นักเตะคนนี้เมื่อเกรแฮมนำข้อมูลมาศึกษาแล้วพบว่า ไม่ใช่นักเตะที่เหมาะสมกับลิเวอร์พูลเลยแม้แต่น้อย
และนั่นทำให้เขารวมถึงเอ็ดเวิร์ดส์พยายามที่จะโน้มน้าวร็อดเจอร์สให้เปลี่ยนไปหานักเตะคนใหม่ที่มีความเหมาะสมมากกว่าแทน แต่ก็เจอปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ผู้จัดการทีมไม่ได้เชื่อในวิธีการของพวกเขา ที่นำตัวเลขมาวิเคราะห์ข้อมูลนักเตะในเวลานั้น
ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามอย่างไร นายหัวของแอนฟิลด์ก็ไม่ฟังทั้งนั้น
Endgame ของร็อดเจอร์ส
สุดท้ายร็อดเจอร์สนำเบนเตเกมาสู่ลิเวอร์พูลจนได้ด้วยค่าตัว 32.5 ล้านปอนด์ และเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุด
ความจริงแล้วลิเวอร์พูลไม่ได้มีกองหน้าใหม่แค่คนเดียวในฤดูร้อน ปี 2015 เพราะพวกเขาได้ โรแบร์โต เฟียร์มิโน หัวหอกทีมชาติบราซิล มาจากฮอฟเฟนไฮม์อีกคนหนึ่ง ซึ่งการเจรจารายนี้อาจจะพอเดากันได้ว่ามาจากสายของเอ็ดเวิร์ดส์ โดยมีข้อมูลของเกรแฮมสนับสนุน
ปัญหาคือ ร็อดเจอร์สเป็นผู้จัดการทีมคนหนุ่มที่แข็งกร้าว เชื่อมั่นในแนวทางของตัวเอง และไม่รับฟังความเห็นจากมนุษย์เนิร์ดๆ ทั้งสองคนอย่างเอ็ดเวิร์ดส์และเกรแฮมสักเท่าไร
“เขาดูเป็นผู้จัดการทีมสมัยใหม่และทำให้ตัวเองดูเป็นแบบนั้น แต่ความจริงเขาไม่ได้เป็นผู้จัดการทีมสมัยใหม่อะไรเลย เขาบอกชัดเจนว่าเขาจะไม่ยอมบริหารสโมสรในแนวทางนั้น (ร่วมมือกับฝ่ายจัดหานักเตะ) และปัญหาก็เกิดในจุดนั้นเอง
สำหรับร็อดเจอร์สแล้ว “ทุกเรื่องต้องเป็นไปในทางของผม และนักเตะที่จะมาที่นี่ต้องเป็นนักเตะที่ผมเลือกเอง”
อย่างไรก็ดี มันไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกราย มีนักเตะอย่างสเตอร์ริดจ์หรือคูตินโญที่เป็นนักเตะกลุ่มแรกที่เอ็ดเวิร์ดส์และเกรแฮมเลือกเฟ้นมา ซึ่งเป็นความสำเร็จแรก รวมถึงเฟียร์มิโน ซึ่งกลายเป็นตำนานของสโมสรในยุคของคล็อปป์ในเวลาต่อมา
ขณะที่เบนเตเกกลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่
ร็อดเจอร์สไม่เคยพาลิเวอร์พูลกลับมาดีได้เลย และสุดท้ายต้องโดนปลดจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม ปี 2015
Data ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง
แต่เกรแฮมไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกเสมอไป ในทางตรงกันข้าม โมเดลการคำนวณของเขาที่คิดว่าดีแล้ว ก็เคยก่อความผิดพลาดและล้มเหลวเช่นกัน
เขาประเมินคร่าวๆ ในใจ ตัวเลขความล้มเหลวกับความสำเร็จนั้นแทบไม่ต่างกันในระดับ 50-50
ซาลาห์, มาเน, ฟาน ไดจ์ค เป็นแค่เรื่องที่คนจดจำ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็มีดีลที่ล้มเหลวอย่าง ลาซาร์ มาร์โควิช, ยาโก อัสปาส, หลุยส์ อัลแบร์โต และนักเตะที่เกรแฮมยอมรับว่าเป็นความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงเวลากับลิเวอร์พูล
นาบี เกอิตา ผู้ไม่เคยเป็นในสิ่งที่ทุกคนหวังได้เลย
Data Analysis ไม่ได้เป็น ‘คำตอบของทุกสิ่ง’ และความสำเร็จนั้นย่อมไม่ได้เกิดจากแค่คนคนหนึ่งที่มองตัวเลขแล้วตีความหมายออกมาเป็นรายงานสรุป เพราะมันมีองค์ประกอบอีกหลายสิ่งหลายอย่าง รวมถึงคนที่ทำงานด้วย
ข้อมูลจากเขาทำให้ทีมค้นพบความได้เปรียบ (Edge) จากคนอื่น แต่ถ้าไม่ใช่เอ็ดเวิร์ดส์ บอสของฝั่งเขา ที่เป็นคนตัดสินใจจากสิ่งที่นำเสนอ และถ้าไม่ใช่คล็อปป์ คนที่แม้จะไม่ใช่คนยอมใครง่ายๆ แต่หัวใจกว้างพอที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น ทุกอย่างคงไม่เป็นไปด้วยดีขนาดนี้
สำหรับเกรแฮม จากเด็กเนิร์ดบ้าบอลคนหนึ่งที่เรียนไม่จบด้วย แต่ใช้ความรักในเกมฟุตบอล การเล่นเกม Subbuteo และศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์จากเครื่อง Amstrad ที่แม่เอากลับจากที่ทำงานมานั่งทำงานต่อที่บ้าน สู่การเป็น เอียน เกรแฮม หนึ่งในนักวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับการยกย่องว่าเก่งกาจที่สุดคนหนึ่งในเกมลูกหนัง
เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังวันเวลาที่ดีของลิเวอร์พูล และเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยเปลี่ยนโลกลูกหนังให้หันมาสนใจ ‘ข้อมูล’ มากขึ้น
แค่นี้ก็นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว
อ้างอิง: