×

Finno Efra ทุ่ม 1.3 พันล้านบาท เปิดกองทุนหนุนสตาร์ทอัพรายเล็ก เตรียมเปิดขายรายย่อยขั้นต่ำ 5 แสนบาท

20.08.2024
  • LOADING...
Finno Efra

กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุน (Corporate Venture Capital: CVC) ในเครือกรุงศรี ร่วมกับอีฟราสตรัคเจอร์ (EfraStructure) บริษัทร่วมลงทุนและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เตรียมทุ่มงบ 1.3 พันล้านบาท (ราว 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ปั้นกองทุน ‘ฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์’ (Finno Efra Private Equity Trust) เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยผ่านการลงทุนทั้งในสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน

 

Finno Efra Private Equity Trust เป็นกองทุนที่พุ่งเป้าการลงทุนสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงแรกของธุรกิจ แต่มีศักยภาพการสร้างรายได้และมีเริ่มสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ตลาดแล้ว ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้ถือว่าเป็นช่วง Seed ถึง Pre-Series A

 

“ทุกวันนี้ หนึ่งในความท้าทายหลักของระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยคือธุรกิจส่วนใหญ่ที่เริ่มตั้งตัวและกำลังจะขยายกิจการต่อ (Seed ถึง Pre-Series A) ต้องเจอกับปัญหาเงินทุนขาดแคลน เพราะมีบริษัทร่วมลงทุนจำนวนน้อย จากเหตุผลที่ว่า CVC ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการลงทุนจะพุ่งเป้าไปที่บริษัทกลุ่ม Series A ที่มีความเสี่ยงในการล้มเหลวของธุรกิจต่ำกว่า แต่ท่าทีนี้กลับสวนทางเทรนด์การลงทุนสตาร์ทอัพในต่างประเทศที่มีการสนับสนุนสตาร์ทอัพระยะแรกค่อนข้างเยอะ” แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าว

 

การลงทุนกับสตาร์ทอัพช่วง Seed ถึง Pre-Series A ในอัตราที่น้อย ไม่เพียงจะทำให้ธุรกิจที่มีศักยภาพต้องติดอยู่กับ ‘กับดัก’ ที่โตต่อจากขั้นเริ่มแรกไม่ได้ แต่ยังหมายความว่าบริษัท CVC ที่มีเงินทุนรอลงสตาร์ทอัพ Series A ขึ้นไปก็จะไม่มีสตาร์ทอัพใหม่ๆ ให้ลง

 

“เราคิดว่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จะเป็นกลไกที่เข้ามาดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากยิ่งขึ้น สร้าง S-Curve ให้กับประเทศที่ต้องยอมรับว่ากำลังเจอกับการภาวะเศรษฐกิจโตต่ำ เพราะจากที่ผมเข้าไปคลุกคลีกับผู้ประกอบการไทย หลายขั้นตอนการทำงานยังเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” ภาวุธฉายภาพใหญ่ให้เห็นถึงความท้าทายในการปรับตัวของธุรกิจไทยส่วนมาก

 

ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของกองทุนFinno Efra Private Equity Trust ที่จะนำเงินไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เช่น มาร์เก็ตติ้งเทคโนโลยี, อีคอมเมิร์ซ, เทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) หรือเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) โดยการลงทุนจะโฟกัสที่สตาร์ทอัพไทยเป็นสัดส่วนราว 60% และที่เหลือจะเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศในอาเซียน โดยมียอดการลงทุนในแต่ละดีลราว 8-40 ล้านบาทต่อกิจการ ซึ่งกองทุนตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 50 กิจการ ทั้งนี้ การลงทุนเป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและตามที่บริษัทกำหนด

 

สำหรับกองทุนFinno Efra Private Equity Trust มูลค่า 1.3 พันล้านบาทนี้ จะมีแหล่งเงินทุนจาก 3 แหล่ง ได้แก่

  1. กรุงศรี ฟินโนเวต 200 ล้านบาท
  2. ลูกค้าสถาบันของกรุงศรี โดยลงทุนขั้นต่ำ 38 ล้านบาทต่อบริษัท
  3. บลจ.วรรณ ที่เตรียมแผนเปิดโอกาสกับนักลงทุนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงการลงทุนสตาร์ทอัพได้ผ่านกองทุนFinno Efra Private Equity Trust โดยลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท

 

 

อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพเป็นประเภทธุรกิจที่ขึ้นชื่อในเรื่องเสี่ยงสูง โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาพบว่าสตาร์ทอัพเกือบครึ่งต้อง ‘ปิดตัวลง’ หลังเปิดตัวมาได้ไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่าการมาของกองทุน Finno Efra Private Equity Trust ครั้งนี้จะป้องกันความเสี่ยงให้นักลงทุนได้อย่างไร?

 

แซมกล่าวถึงกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไว้ว่า การจัดตั้งกองทุนครั้งนี้ไม่ใช่แค่การให้เงินทุนกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ผ่านเข้ารอบมาเพื่อไปคลำหาทางกันเอง แต่ผู้ประกอบการทุกรายที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจะต้องได้รับการฝึกอบรมจากรุ่นพี่สตาร์ทอัพที่เคยสำเร็จมาก่อนด้วยFinno Efra Accelerator Program ซึ่งการที่ผู้มีประสบการณ์คอยสร้างธุรกิจร่วมกับสตาร์ทอัพมือใหม่ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการผิดพลาดของวิธีเลือกดำเนินธุรกิจได้

 

Finno Efra Accelerator Program จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน โดยในแต่ละรอบจะเปิดรับสตาร์ทอัพประมาณ 10 บริษัท และสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนี้จะมีโอกาสได้รับเงินลงทุนจากกองFinno Efra และพบกับนักลงทุนรายอื่นๆ อีกด้วย

 

สำหรับสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมและสนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนFinno Efra Private Equity Trust และ Finno Efra Accelerator Program ได้ที่ www.krungsrifinnovate.com หรือ Facebook: Krungsri Finnovate

 

“ผมเชื่อว่าถ้ากองทุนนี้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีบริษัทเทคโนโลยีอีกเยอะ ซึ่งถือเป็นการรีเซ็ตประเทศไทย และเรา (Finno Efra) ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน ซึ่งถ้าธุรกิจสตาร์ทอัพยกระดับสังคมให้ดีขึ้นได้ ธุรกิจก็จะกำไรดี รวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วย” แซมกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X