สภาพัฒน์เผย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน เหตุการบริโภค การอุปโภครัฐบาล และส่งออกดีขึ้น คาด GDP ทั้งปีโต 2.5% (ค่ากลาง)
วันนี้ (19 สิงหาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาส 1/67 เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนปรับตัวดีขึ้นมาจากการอุปโภคภาครัฐบาล, การส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น, การอุปโภคภาคเอกชนขยายตัว, การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว, สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐปรับตัวลดลง, สาขาการก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง
เมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส หรือเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/67 ขยายตัวจากไตรมาส 1/67 0.8% (QoQ_SA)
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567
สภาพัฒน์ปรับเปลี่ยนคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.3-2.8% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) จากก่อนหน้านี้ ช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 2.0-3.0% เนื่องจากปัจจัยสำคัญ ดังนี้ การลงทุนภาคเอกชนทั้งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.3% เท่านั้น จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 3.2% และการลงทุนภาครัฐทั้งปี 2567 คาดว่าดีขึ้น เหลือติดลบ 0.7% เท่านั้น จากติดลบ 1.8% ในประมาณการครั้งก่อน
สำหรับปัจจัยสนับสนุนปี 2567 ได้แก่
- การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
- การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
- การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง
- การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2567
- ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อชะลอลง
- ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ จนนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังคงไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา
- การฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการผลิตและการปรับโครงสร้างภาคการผลิต
ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยยังคงขยายตัวในระดับต่ำ การลงทุนภาคเอกชนมีแรงในการฟื้นตัวได้ช้า สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มค้าส่งออกสำคัญ
แนะแนวทางบริหารจัดการช่วงที่เหลือของปี
สภาพัฒน์ยังแนะว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 8 ประการดังนี้
- การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ
- การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน
- การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
- การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs
- การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
- การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ
- การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก
อ้างอิง: