×

ถ้าไม่มี ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เศรษฐกิจไทยต้องการอะไร?

16.08.2024
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

หลายฝ่ายประเมินว่า โอกาสที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นเริ่มริบหรี่ลงทุกที อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์และภาคอุตสาหกรรมต่างมองตรงกันว่า รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ พร้อมกับแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว

 

ความเป็นไปได้ที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

 

โดยในวันที่ 15 สิงหาคม ปกรณ์​ นิลประพันธ์​ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า โดยหลักแล้ว โครงการดิจิทัลวอลเล็ตควรจะหยุดลง​ และไม่ต้องกลับไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว หลังจากต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลรักษาการ และต้องรอความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งหากไม่สามารถใช้ทันในปีงบประมาณ คือก่อนวันที่ 30 กันยายน 2567 ก็เป็นอันตกไป

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะตามมาตรา 160 (4) (5) ได้เพิ่มความเสี่ยงเชิงกฎหมาย (Legal Risk) ให้กับฝั่งบริหารหรือรัฐบาล

 

ดังนั้น แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลอาจยืนยันได้ว่าดิจิทัลวอลเล็ตทำได้ถูกกฎหมาย แต่หลังจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 14 สิงหาคม อาจทำให้รัฐบาลต่อจากนี้ต้องมีความอนุรักษนิยมมากขึ้น (Conservative) ยิ่งมีคนทัก ยิ่งต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หารือกันมาตลอดว่าเป็นเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดถึงแหล่งที่มา กฎหมายต่างๆ แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงเป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานั้น จำเป็นต้องมีเม็ดเงินกระตุ้นแรงๆ วันนี้แผนกลับล่าช้าไปเรื่อยๆ 

 

หากในวันนี้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากเศรษฐามาเป็นท่านอื่น จะเป็น แพทองธาร ชินวัตร หรือแม้จะเป็นพรรคเพื่อไทยท่านอื่นก็มีโอกาสที่จะไม่ทำต่อ เพราะยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย ซึ่งได้เห็นผลว่าเป็นหนึ่งในบทเรียนของพรรค โดยที่ผ่านมาตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทยล้วนต้องเผชิญกับคดีด้านกฎหมาย

 

“วันนี้เมื่อไทม์มิ่งเปลี่ยน อาจจะไม่ได้ไปต่อ รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการอื่นมาเยียวยาประชาชนโดยเร็ว”

 

ถ้าไม่มี ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เศรษฐกิจไทยต้องการอะไร?

 

ดร.พิพัฒน์ ยังย้ำว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้น แต่โจทย์ของรัฐบาลใหม่คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใดจึงจะดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด และปลอดภัยที่สุด

 

“ตอนนี้ตัวเม็ดเงินอยู่ในงบประมาณปี 2568 ไปแล้ว หรือถูกจัดสรรอยู่ในส่วนของงบการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ดังนั้นถึงรัฐบาลไม่ทำดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังมี Room ส่วนนี้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การแจกเงิน (Cash Transfer) เฉพาะกลุ่มเปราะบาง แล้วนำเงินที่เหลือไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะกลางและยาวที่สร้าง GDP ได้ดีกว่า”

 

ดร.พิพัฒน์ ยังมองอีกว่า ดิจิทัลวอลเล็ตมีต้นทุนค่าเสียโอกาสอีก 2 มิติ นอกเหนือจากต้นทุนโครงการ ได้แก่ ทำให้ความสนใจ (Attention) ผู้บริหารต่อเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดิจิทัลวอลเล็ตลดลง และทำให้ทรัพยากรหรือพื้นที่ทางการคลังลดลง ในกรณีหากโครงการไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง เนื่องจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งในโครงการที่ทำให้หนี้สาธารณะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าปริ่มเพดาน ดังนั้น หากวันหลังไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็จะเหลือพื้นที่น้อยลง

 

ขณะที่ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เนื่องจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีความเสี่ยงมากมาย เช่น ความเสี่ยงทางการคลัง ความเสี่ยงที่กฤษฎีกาเตือน และความเสี่ยงด้านงบประมาณ

 

ดังนั้น ดร.อมรเทพ จึงมองว่า มาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยโดยไม่มีความเสี่ยงมากนักคือ มาตรการทางการคลังอย่างการแจกเงินให้กลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงมาตรการกระตุ้นอื่นๆ ที่เคยใช้ในรัฐบาลก่อนหน้า เพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ

 

ทำไมเศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้น?

 

ดร.อมรเทพ อธิบายว่า เหตุผลที่มองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้นหรือนโยบายแจกเงินอยู่ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ขณะที่คนส่วนมากไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้มากเท่าไร ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น 

 

ดังนั้น การใช้มาตรการทางการคลังจึงอาจมีความจำเป็น เพื่อดูแลคนกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ต้องไม่ใช่มาตรการทางการคลังแบบหว่านแห แต่ต้องมุ่งหวังให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไหลจากระดับบนลงล่าง และให้เงินหมุนในระบบมากขึ้น

 

“ในวันนี้เศรษฐกิจไทยโตเพียงระดับกลางและระดับบนเท่านั้น โตเพียงกลุ่มท่องเที่ยว โตเพียงส่งออกบางกลุ่ม แต่ SME ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการในต่างจังหวัดยังอ่อนแอ หรือโตแค่กรุงเทพฯ และหัวเมืองไม่กี่เมืองเท่านั้น” 

 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเร่งทำอะไร?

 

ดร.อมรเทพ มองว่า การสานต่อนโยบายหรือความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากก่อนหน้านี้เศรษฐาเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง เพื่อชักชวนนักลงทุนมายังประเทศไทย และประกาศนโยบายต่างๆ ไปมากมาย

 

ดังนั้น สิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเร่งทำคือ แม้จะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ แต่นโยบายต่างๆ จะยังสานต่อ โดยเฉพาะนโยบายการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการเจรจาการค้าเสรี

 

เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น พร้อมแก้ปัญหาโครงสร้างระยะยาว

 

อย่างไรก็ดี ดร.อมรเทพ กล่าวว่า นอกจากการทำนโยบาย Quick Win และสร้างความเชื่อมั่นแล้ว รัฐบาลต้องอย่าลืมว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต้องเร่งการผลิต เร่งการสะสมทุน เร่งลงทุนด้านนวัตกรรมและแรงงานให้มากขึ้น หรือการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็เป็นสิ่งสำคัญ

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ มองว่า วันนี้รัฐบาลต้องมองหาให้เจอว่าอะไรเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของประเทศ (Engine of Growth) และต้องเร่งแก้ไขปัญหาความสามารถด้านการแข่งขัน

 

“วันนี้อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่างรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ กำลังเผชิญปัญหาการผลิตลดลงต่อเนื่อง แต่เรากลับนึกภาพไม่ออกว่าอะไรจะเป็นบุญใหม่ที่มาทดแทนได้ทันเวลา ขณะที่บุญเก่ากำลังจะหมดลง โจทย์นี้นับว่าไม่ง่าย” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising