×

ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่น่ากังวลแค่ไหน? ทำไม WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกรอบ 2

15.08.2024
  • LOADING...
ฝีดาษลิง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรค Mpox หรือชื่อเดิมที่รู้จักกันคือ โรค ฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังพบกรณีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ทางตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา 

 

โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี ซึ่ง WHO เคยประกาศให้โรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมาแล้วในปี 2022

 

การระบาดของ Mpox ส่วนใหญ่พบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีการแพร่ระบาดรุนแรงและมีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 450 คน โดยพบการระบาดมากสุดในหลายหมู่บ้านห่างไกลแถบป่าดิบชื้น ซึ่งเป็นจุดที่แต่ละปีจะพบผู้ติดเชื้อหลายพันคน และเสียชีวิตหลายร้อยคน และกรณีการติดเชื้อส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

 

โรค Mpox คืออะไร

 

โรค Mpox เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสฝีดาษลิง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่เป็นอันตรายน้อยกว่ามาก เดิมทีไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ปัจจุบันพบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

 

ไวรัส Mpox นั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หรือที่เรียกว่า Clade 1 และ Clade 2 โดยในการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศปี 2022 พบว่าไวรัส Mpox ที่แพร่ระบาดขณะนั้นเป็นไวรัสแบบ Clade 2 ที่อาการไม่รุนแรง แต่สำหรับครั้งนี้พบว่าการระบาดเกิดจากไวรัสใน Clade 1 ที่อาการรุนแรงกว่ามาก

 

ช่วงปี 2022 พบว่าการระบาดของ Mpox ลุกลามเป็นวงกว้างไปเกือบ 100 ประเทศ ในบางประเทศในยุโรปและเอเชียรวมถึงประเทศไทย แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง

 

Mpox สายพันธุ์ใหม่

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับไวรัส Mpox ที่ระบาดในตอนนี้เป็นไวรัสกลุ่มย่อยที่เกิดจากการกลายพันธุ์ เรียกว่า Clade 1b ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ไวรัส Mpox สายพันธุ์ใหม่นี้ ‘มีความอันตรายมากที่สุด’

 

ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แห่งแอฟริกา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อ Mpox แล้วมากกว่า 14,500 ราย และเสียชีวิตกว่า 450 ราย โดยอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 160% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023

 

การระบาดของโรค Mpox 96% พบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศเพื่อนบ้านอย่าง บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา 

 

โดยในคองโก ประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาการเข้าถึงวัคซีนและรับการรักษา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เชื้อ Mpox สายพันธุ์ใหม่อาจระบาดได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

 

อาการของ Mpox 

 

อาการเริ่มแรกของโรคชนิดนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เกิดอาการบวม ปวดหลัง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

 

โดยเมื่อไข้ลดลงอาจเกิดผื่นขึ้น ซึ่งมักจะเริ่มที่ใบหน้าแล้วลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่คือฝ่ามือและฝ่าเท้า และในรายที่ร้ายแรงอาจเกิดผื่นลุกลามไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะในปาก ตา และอวัยวะเพศ ซึ่งผื่นที่เกิดขึ้นจะมีอาการคันหรือเจ็บปวดมาก ขณะที่การติดเชื้อจะคงอยู่ประมาณ 14-21 วัน และมักจะหายได้เอง 

 

แพร่ระบาดอย่างไร

 

Mpox แพร่ระบาดจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสผิวหนัง การพูดคุยหรือหายใจใกล้ชิด โดยไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านผิวหนังที่เป็นแผล ทางเดินหายใจ ทางตา จมูก หรือปาก อีกทั้งยังสามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า และผ้าขนหนู 

 

นอกจากนี้การสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ได้รับเชื้อ เช่น ลิง หนู และกระรอก ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน

 

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด พบว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยในการระบาดช่วงปี 2022 พบว่าการแพร่ระบาดส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสทางเพศ ขณะที่กรณีการระบาด ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะในคองโกพบว่าผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสทางเพศเช่นกัน

 

สำหรับคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากไวรัส Mpox คือหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่หากพบกรณีการแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่

 

โดยผู้ติดเชื้อควรแยกกักตัวจากผู้อื่นจนกว่ารอยโรคทั้งหมดจะหายไป ขณะที่ WHO แนะนำว่า ในการมีเพศสัมพันธ์หลังจากหายดีเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ควรป้องกันการติดเชื้อด้วยการใช้ถุงยางอนามัย

 

รักษาอย่างไร

 

วิธีควบคุมการแพร่ระบาดของ Mpox ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้มีความเสี่ยงหรือเคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

 

โดยเมื่อไม่นานนี้ WHO ได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตยาเดินหน้าการพัฒนาวัคซีน Mpox เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน แม้ว่าวัคซีนจะยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้

 

ขณะที่การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วทั้งทวีปอาจช่วยให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกามีการประสานงานและรับมือการระบาดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้มีการส่งยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้มากขึ้น

 

ภาพ: Arlette Bashizi / REUTERS

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising