สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจภาคตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่ ด้วยอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และยังตอกย้ำด้วยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ 2 แห่ง แจ้งมีแผนปลดพนักงาน โดยมี Intel Corporation แจ้งแผนปลดพนักงาน 15,000 ตำแหน่ง และ Dell Technology Inc. แจ้งแผนปลดพนักงาน 13,000 ตำแหน่ง
ปัจจัยดังกล่าวกดดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลงแรง กลัวสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย และนักเศรษฐศาสตร์บางท่านมองถึงความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการปรับลดดอกเบี้ยสูงถึง 0.50% จาก 5.25-5.50% ลงมาที่ 4.75%-5.00% แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (สิ้นสุดวันที่ 3 สิงหาคม) ที่ 233,000 คน ลดลง 17,000 คน ทำสถิติการปรับลงลดมากที่สุดในช่วงตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจาก Bloomberg ระบุว่า ในช่วงนี้ของปีเราจะเห็นความผันผวนของตัวเลขการว่างงาน เนื่องจากเป็นสถานการณ์ตามฤดูกาล เช่น ช่วงโรงเรียนปิดเทอมภาคฤดูร้อน หรือช่วงปรับปรุงหรือเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักรในโรงงานการผลิต
ยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูของเฮอริเคนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเฮอริเคน Debby ที่อาจมีผลทำให้ตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงานสูงขึ้น ในการรายงานข้อมูลในสัปดาห์หน้าด้วย จึงแนะนำให้ใช้ตัวเลขค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) กับตัวเลขภาคแรงงานในช่วงนี้เพื่อลดข้อผิดพลาดจากค่าของข้อมูลผันผวนในการวิเคราะห์
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กรุงศรีฯ อ้างอิงบทวิเคราะห์ของ MUFG ในรายการ Double Espresso เช้าวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม มีมุมมองว่า หากใช้เงื่อนไขของหลักการ Sahm Rule เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 4% ติดต่อกันเกิน 2 เดือน ตอนนี้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า สถานการณ์อาจไม่ได้แย่อย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากในอดีตอัตราการว่างงานที่เข้าเกณฑ์เศรษฐกิจถดถอยโดยเฉลี่ย 14 ครั้ง ที่เกิด Recession จะอยู่ที่ 6.1% เศรษฐกิจจึงยังไม่อยู่ในจุดที่น่ากังวลอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์
อ้างอิง: