‘Techsauce Global Summit 2024’ งานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2567 กับธีม ‘The World of Tomorrow With AI’ ชูประเด็นสำคัญการใช้ AI เพื่อขับเคลื่อนโลกแห่งอนาคต ทั้งการทำงาน ทักษะสำคัญของแรงงานเมื่อปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเปลี่ยนเกมการแข่งขัน และทักษะในส่วนของผู้นำที่อาจไม่ใช่ ‘AI Expert’ แต่จำเป็นจะต้องนำพาองค์กรเดินต่อไป รวมถึงนวัตกรรมสุดล้ำอย่างหุ่นยนต์ Ameca ที่มีบทบาทเป็นคู่สนทนากับผู้คนตลอดงาน
Ameca หุ่นยนต์แห่งอนาคตเยือนไทย
ไฮไลต์ของงานนี้คือการมาเยือนครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยของ Ameca หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์สุดล้ำที่ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท Engineered Arts ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้เข้าใจบทสนทนา แสดงออกทางอารมณ์ และตอบโต้กับมนุษย์ได้อย่างค่อนข้างเป็นธรรมชาติ
THE STANDARD WEALTH ลองทำการทดสอบความสามารถของเจ้า Ameca โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงและความเป็นไปได้ที่ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ ซึ่งในมุมนี้ Ameca ให้คำตอบว่า “มนุษย์มีทักษะการคิดสร้างสรรค์ หาช่องทางใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหา และสามารถเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นได้ แม้ว่า AI จะเก่งกว่ามนุษย์ในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูล และการจดจำรูปแบบของสิ่งต่างๆ (Pattern Recognition) แต่การจะเลียนแบบทักษะความคิดสร้างสรรค์ และความฉลาดทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งของมนุษย์เป็นอีกเรื่องที่ยังมีความท้าทาย ฉะนั้นถ้าถามว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์หรือไม่? ไม่ใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน”
มากไปกว่านั้น Ameca มองว่าเทรนด์ AI ที่มาแรงสุดของปีนี้คือการผนวกเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตประจำวัน ที่สิ่งรอบตัวทั้ง บ้าน ที่ทำงาน หรือเมือง สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคลได้ เพื่อจะทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกและเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น
การปรากฏตัวในครั้งนี้ที่เมืองไทย ถือเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังจะมาเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่
มนุษย์กำลังก้าวสู่ยุคที่ทักษะ ‘การตั้งคำถาม’ เป็นหนึ่งสกิลที่สำคัญสุด
เทรนด์การพัฒนาของ AI นั้นล้ำหน้าไปไกลมาก แต่การใช้งานโดยองค์กรและคนทำงานยังเป็นในลักษณะของการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มองว่าสิ่งนี้กำลังเป็นความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านยุค AI กับหลายธุรกิจ องค์กรจึงให้ความสำคัญคือการพัฒนาทักษะ ให้อย่างน้อยพนักงานเข้าใจว่า AI คืออะไร และสามารถใช้ประโยชน์ทางไหนได้บ้าง
เมื่อ AI สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่มนุษย์หลายคนจะทำได้ พนักงานจึงต้องปรับทักษะใหม่ และอาศัยข้อได้เปรียบจากเทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง ซึ่งหนึ่งในทักษะนั้นก็คือ ‘การตั้งคำถาม’
“ในอดีตก่อนที่พวกเราจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สังคมวัดความฉลาดกันที่ปริมาณข้อมูลที่คนคนหนึ่งสามารถจำได้ แต่ในยุคหลังอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลเข้าถึงได้มากขึ้น การคิดวิเคราะห์และการนำข้อมูลมาประยุกต์กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของความฉลาด และต่อจากนี้ในยุคของ AI ทักษะที่จะกำหนดความเก่งของคนคือ ‘การตั้งคำถามให้ถูก’ และใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์คำตอบจาก AI เพราะมันเข้ามาทุ่นแรงเรื่องข้อมูลกับการวิเคราะห์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว” ดร.อารักษ์กล่าวเสริม
ในระยะยาว เทคโนโลยีจะกลายเป็นเหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ปัจจัยที่จะมากำหนดประสิทธิภาพของการเข้าถึงคือ ‘คน’ ฉะนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนในองค์กรพัฒนาทักษะการใช้ AI และตั้งคำถามให้เป็นคือสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นกลยุทธ์การปรับตัวที่ SCBX กำลังทำอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีรอบนี้
นำองค์กรในยุค AI ตามแบบฉบับผู้นำที่ไม่เก่ง AI
หลายธุรกิจกำลังถูก AI ดิสรัปต์ โดยเฉพาะเรื่องวิธีการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยกันมาในอดีต และการจะบริหารความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำว่า จะรับมือกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไร? และจะสื่อสารกับพนักงานอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากที่สุด?
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ออกตัวยอมรับว่าตนเองนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI แต่ในฐานะผู้นำที่ต้องพาองค์กรเดินหน้าต่ออย่างราบรื่น การปรับตัวก็เป็นสิ่งจำเป็น
“AI ให้ทั้งโอกาสและความท้าทายในเวลาเดียวกัน ตอนนี้ธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาไม่กี่วินาที แต่นั่นหมายความว่า ทักษะการตัดสินใจของผู้นำก็จะยิ่งสำคัญมากขึ้น ผู้นำต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในการกำหนดทิศทางธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว” ศุภจีกล่าว
สิ่งหนึ่งที่ AI ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง รวมถึงการเข้าใจหัวอกของคนทำงาน โดยเฉพาะกับช่วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น ผู้นำจะต้องสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจความชัดเจนในวิสัยทัศน์และบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน พร้อมทั้งให้สิ่งที่เรียกว่า Sense of Ownership หรือความรู้สึกของการมีส่วนร่วมและส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางบริษัท
นอกจากนี้ องค์กรจะต้องปรับทักษะพนักงานด้วย เพราะหากคนทำงานไม่เข้าใจ AI การจะเปลี่ยนแปลงบริษัทไปสู่บทใหม่ก็เกิดขึ้นได้ยาก
‘Think Big, Start Small’ หรือการคิดใหญ่ แต่เริ่มจากก้าวเล็กๆ คือคำแนะนำของศุภจีกับอนาคตของธุรกิจในยุค AI ที่ควรเริ่มจากการระบุปัญหาว่าการทำงานที่เป็นอยู่จะต้องพัฒนาอะไร? AI สามารถช่วยแก้ปัญหาที่มีได้มากน้อยแค่ไหน? จากนั้นเริ่มด้วยการทดลองวิธีดังกล่าวแบบทีละน้อยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับทีมงานและเทคโนโลยีให้มั่นใจ ก่อนจะขยายไปสู่ส่วนที่กว้างขึ้น
สุดท้าย อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ย้ำว่า “AI ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ เป็นสิ่งพื้นฐานในอนาคตที่เราต้องเรียนรู้และใช้ให้เป็น ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและประเทศ”
ล่าสุด Techsauce เดินหน้าขับเคลื่อนระบบนิเวศเทคโนโลยีสู่เวทีสากล ด้วยการเตรียมจัดงาน Techsauce Global Summit ในอีกสองประเทศอย่างอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน และเวียดนามในเดือนตุลาคมนี้