×

BREAKING: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ยุบก้าวไกล’

โดย THE STANDARD TEAM
07.08.2024
  • LOADING...
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ยุบก้าวไกล’

วันนี้ (7 สิงหาคม) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติ และออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรค ก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

 

ต่อมาตั้งแต่เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย และพิธาเดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยสรุปคำวินิจฉัยเบื้องต้นศาลเห็นว่า

 

คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงยุติการไต่สวน

 

ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567 ในคดีที่ 44 สส. พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ถูกร้องนำเนื้อหาของร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าวไปใช้หาเสียง กับมีสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคไปเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 รวมถึงการเสนอความเห็นในการแก้ไขกฎหมาย เป็นการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

ต่อมามีผู้นำเอาคำวินิจฉัยนี้มาร้องต่อ กกต. และ กกต. ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีนี้ มีการต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ ศาลให้เหตุผลและระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาคดีนี้ ข้อโต้แย้งผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น

 

ประเด็นต่อมา พรรคก้าวไกลโต้แย้งว่า กกต. ไม่ได้กระทำการตามกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 ในการยื่นคำร้องนี้ ไม่มีโอกาสโต้แย้งแสดงหลักฐาน ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า กกต. สามารถยื่นคำร้องได้ โดยอาศัยพยานหลักฐานจากการวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองก่อนหน้า เป็นกรณีที่เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ไม่มีเหตุต้องรวบรวมพยานหลักฐานและไม่มีเหตุต้องส่งให้ผู้ถูกร้อง เป็นการดำเนินการตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ไม่จำเป็นต้องย้อนกระบวนการ ผู้ร้องได้แสดงความโต้แย้งและไต่สวนต่อหน้าพยานในคดีก่อนหน้านี้อย่างเต็มที่แล้ว

 

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วางหลักให้ศาลยับยั้งผลที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น แม้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะไม่ได้ถูกยกเลิกไป เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีก่อนหน้านี้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม และการรณรงค์ผ่านสื่อสังคม การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นผลสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แล้ว

 

เป็นคดีรัฐธรรมนูญที่มีมูลเดียวกัน เป็นรัฐธรรมนูญเดียวกัน ต้องใช้มาตรการเดียวกัน ศาลมีอำนาจค้นหาความจริง ได้ดำเนินการไต่สวนความจริงอย่างเข้มข้นสูงสุดแล้ว คำวินิจฉัยคดีก่อนหน้านี้จึงรับฟังได้

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อมาว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นพรรคการเมือง เมื่อการกระทำในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอล้วนแต่มาจากสมาชิกพรรคเดียวกันทั้งหมด และยังใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นนายประกันผู้ต้องหาคดี ม.112 และยังเป็นจำเลยเอง กรรมการบริหารพรรคต้องควบคุมไม่ให้สมาชิกพรรคทำผิด เป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมโดยใช้ สส. และสมาชิกกระทำ แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสร้างกระแสให้ยกเลิกและแก้ไขมาตรา 112 ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน ผู้ถูกร้องไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดได้

 

การกระทำในคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 ของ สส. พรรคก้าวไกล มีเนื้อหาให้เปลี่ยนฐานความผิด ยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ และแก้ไขให้เป็นความผิดอันยอมความ เพื่อให้เป็นสากล รวมถึงการกระทำต่างๆ ที่ยกมาต่อสู้ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อต่อสู้ในคดีเดิมทั้งสิ้น

 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงครบถ้วนในคดีก่อนหน้านี้แล้วว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมผูกพันต่อศาลนี้ด้วยตามรัฐธรรมนูญ

 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีที่วินิจฉัยครั้งก่อนที่มีผลต่อคดีนี้ ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยในคดีที่ 3/2567 มีการใช้ประโยชน์จากสถาบันเพื่อหวังผลการหาเสียงให้ชนะการเลือกตั้ง มีการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน การกระทำผู้ถูกร้องจึงเป็นปฏิปักษ์

 

ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มีเจตนาแยกสถาบันกับชาติออกจากกัน ทำร้ายจิตใจชาวไทย เพราะทรงเป็นประมุขและศูนย์รวมจิตใจของชาติ ตามคำวินิจฉัยก่อนหน้าจึงเป็นเด็ดขาด ผู้ถูกร้องฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายดังกล่าวจะต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค

 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติ เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X