บทสนทนาต่อไปนี้ระหว่าง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้สื่อข่าว THE STANDARD เกิดขึ้นก่อนการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ในคดีสำคัญที่ตัดสินชะตากรรมของพรรคก้าวไกล
หากผลออกมาเป็นบวกต่อพรรค บทสัมภาษณ์นี้คือการมองย้อนสู่จุดเริ่มต้น เพื่อเตรียมก้าวต่อไปให้ไกลกว่าเดิม แต่หากผลออกมาตรงข้าม นี่ก็คงเป็นบทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และในฐานะ สส. ของชัยธวัช
ทว่าสำหรับตัวเขาเอง ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเพียงอีกบทหนึ่งในเส้นทางของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเขายืนยันแล้วว่า “ไม่ใช่จุดเลวร้ายที่สุด” และ “ไม่มีวันหันหลังกลับ”
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
THE STANDARD ขอชวนคุณร่วมติดตามกระแสความคิดผู้นำของพรรคก้าวไกลฝ่าฟันช่วงเวลาอันล่อแหลม ในการสัมภาษณ์พิเศษครั้งสุดท้าย
ตลอดระยะเวลาของการทำพรรคการเมืองมา นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่กระทั่งพรรคก้าวไกล อะไรคือจุด ‘พีค’ ที่สุด และจุด ‘ดิ่ง’ ที่สุด
พีคสุดก็น่าจะเป็นวันเลือกตั้งปี 2566 ที่ประสบความสำเร็จชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ก็น่าจะพีคสุด ดิ่งสุดผมว่าก็ต้องยุบพรรคอนาคตใหม่
ถ้าสมมติพรรคก้าวไกลโดนยุบ ก็ยังไม่หนักเท่าตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นแผลแรก?
ถ้าดูสถานการณ์ก็ไม่ได้หนักเท่า ผมคิดว่าก้าวไกลวันนี้กับอนาคตใหม่วันนั้น สถานการณ์ของเราดีกว่าเยอะ คือเราเข้มแข็งขึ้นเยอะ วันนั้นพรรคอนาคตใหม่ก็ยังใหม่อยู่ทุกอย่าง
แม้จะชนะเลือกตั้งมา แต่สุดท้ายก็ได้แค่ ‘เกือบ’ เป็นรัฐบาล นั่นยังไม่ใช่จุดที่ดิ่งสุด?
ยังๆ เพราะว่าก็เหมือนรู้อยู่แล้ว คือแนวโน้มหลักเราพอจะประเมินออกได้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร จากข้อมูลข่าวสารของเรา และการประเมินสถานการณ์ จริงๆ เราก็พอจะคาดเดาได้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว ว่าแนวโน้มหลักของรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา เรากลายเป็นพรรคอันดับ 1
ถ้าจะบอกว่าทุกอย่างเหมือนกับรู้อยู่แล้วว่าจะจบอย่างไร ทุกอย่างเป็นละคร ก็ไม่เชิงขนาดนั้นนะ พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ เราก็ยังพยายามอย่างเต็มที่ในการจะตั้งรัฐบาลให้ได้ เราอยากมีโอกาสที่จะได้ทดลองทำงาน ผลักดันนโยบายที่เราเตรียมไว้อยู่ ก็ทำอย่างถึงที่สุด
ชัยธวัช ตุลาธน ในขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการแถลงข่าวจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือ MOU ของการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมือง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
คำพูดของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่บอกว่าหากพรรคก้าวไกลยอมวางเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 ลง จะยอมร่วมรัฐบาลด้วย ตลอดจนความเห็นต่างๆ ของนักการเมืองและประชาชน พรรคก้าวไกลวางน้ำหนักระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ กับการแก้ไขมาตรา 112 อย่างไรในเวลานั้น
ถ้ามองย้อนกลับมา เราจะเข้าใจว่ามันเป็นการแลกกันระหว่างการวางเรื่องนี้ (การเสนอแก้ไขมาตรา 112) เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล แต่ผมคิดว่าเราน่าจะเข้าใจผิดพลาด
ผมก็พูดหลายครั้งแล้วว่า นั่นเป็นหน้าฉาก แต่ข้างหลังเป็นเรื่องอื่น
จริงๆ ตอนที่เราพยายามตั้งรัฐบาล 8 พรรคอยู่ เรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ใน MOU ดังนั้น มันไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แม้ว่าวันนั้นเราจะสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เราก็บอกว่าต้องเป็นเรื่องของสภา เรื่องนี้เอาเข้าจริงๆ ผมก็ยังยืนยันว่ามันเป็นเพียงฉากหน้า ข้างหลังเป็นอีกเรื่อง มันไม่ใช่การแลกกันแน่นอน
แต่ก็อาจมีบางฝ่ายพยายามจะปั่นว่าพรรคก้าวไกลไม่ยอมปล่อยเรื่องนี้ ยอมเอาหนึ่งเรื่องแลกกับเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด ผมคิดว่าไม่ใช่หรอก ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น แม้กระทั่งในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เอาเข้าจริงก็ไม่เคยมีการยกเรื่องนี้มาพูดกันด้วยซ้ำ ว่ามีข้อเสนอต่อก้าวไกลให้มีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ ผมยังยืนยันอยู่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้
แล้วเรื่องอื่นที่ว่าคืออะไร
ผมว่าเรื่องอื่นก็คือ มีเป้าหมายอยู่แล้วที่จะไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในฐานะแกนนำหรือไม่ใช่แกนนำนะ ผมมองว่าเป้าหมายหน้าตาของรัฐบาลมีการกำหนดกันไว้ก่อนหน้าเหมือนกัน แต่ว่าตอนนั้นไม่ได้ประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะชนะเป็นอันดับ 1 เหตุผลของแต่ละฝ่ายที่วางกันไว้ว่าจะจับมือกันเป็นรัฐบาลก็ไม่เหมือนกัน
แต่มันมีเป้าหมายร่วมอยู่ว่า รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 จะไม่ใช่พรรคก้าวไกล จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในนั้น
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
หลายคนในสังคม แม้แต่คนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเองก็ตาม อาจมองว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่แหลมคมขนาดที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ไม่หรอก ผมเชื่อว่าสังคมพร้อมแล้วนะ สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงมาก และจริงๆ สังคมไทยก็ต้องการด้วย ผมคิดว่าผลการเลือกตั้งชัดว่าสังคมไทยจำนวนมากต้องการ มากกว่าพร้อมอีก คือต้องการความเปลี่ยนแปลงเลย เพียงแต่ว่ากลุ่ม…จะเรียกว่าอะไรดี
กลุ่มคนที่ยังมีบทบาทในการยึดกุมอำนาจในทางการเมือง หรือแม้กระทั่งในทางเศรษฐกิจ ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนกับสังคมไทย
ก็คือคนกลุ่มบนๆ
จะพูดอย่างนั้นก็ได้ ผมว่าสังคมไทยพร้อม ไม่ใช่แค่พร้อม สังคมไทยต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่แน่นอนเวลาเราพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงก็ต้องลงลึกทีละเรื่องอีก ไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงบางเรื่องก็ต้องการแบบค่อยเป็นค่อยไป บางเรื่องก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
สมมติว่าในวันนั้นพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจริง มีโอกาสได้บริหารประเทศ ได้วางแผนการขับเคลื่อนวาระต่างๆ ของประเทศไว้อย่างไรบ้าง
ผมว่าหลายเรื่องที่เราอยากทำ ตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ แนวทางก็ไม่ได้เปลี่ยน ผมว่าเราต้องการเวลาไม่ต่ำกว่า 2 สมัยรัฐบาล อย่างเรื่องการกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมว่าเราใช้เวลาเฉพาะระยะแรก 5 ปี ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ข้ามวันข้ามคืน มันมีโรดแมปที่วางไว้อยู่ว่าแต่ละปีจะต้องทำอะไร ดังนั้นจึงใช้เวลานาน
การปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบงบประมาณ ก็ใช้เวลา ผมคิดว่าไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีในระยะแรก ส่วนเรื่องโจทย์ทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องใหญ่ ยังไม่นับเรื่องเฉพาะหน้าก็ต้องทำ แต่เรื่องระยะกลางและระยะยาวก็ใช้เวลา การศึกษานี่กว่าจะเห็นดอกเห็นผล กว่าจะทำสำเร็จผมว่าเป็น 10 ปี แต่แน่นอน 4-5 ปีก็น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีโอกาสสามารถผลักดันได้จริง
เรื่องการจัดระบบสวัสดิการที่ต้องใช้ระยะเวลา เป็นเรื่องระยะยาวทั้งสิ้น แต่ต้องเริ่มทำทันที การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ที่ดินนี่ก็เรื่องใหญ่ เป็นปัญหาคาราคาซังมาไม่รู้ตั้งกี่ปีแล้ว ถ้าจะรื้อใหม่ทั้งระบบก็ไม่สามารถทำด้วยการแก้กฎหมาย 1-2 ฉบับ อาจมีฉบับที่เล็งไว้ปลายทางเลยว่านี่คือ End Game 5 ปี 10 ปี เป็นอย่างนี้
แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นต้องมีระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่สามารถหักดิบได้ในทันที ปฏิรูปกองทัพ หลายๆ เรื่องที่เราพูดถึง สรุปคือใช้เวลายาว ผมคิดว่าอย่างน้อย 2 สมัยรัฐบาล
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
บางคนก็บอกว่า หากต้องการหยุดกระแสของพรรคก้าวไกลที่มาแรงมาก ให้ลองมาเป็นรัฐบาลดู
ก็ดีครับ ลองดู ถ้าได้ผมก็อยากเป็น ก็ลองดู (หัวเราะ)
แต่แน่นอนนี่เป็นความท้าทายเหมือนกัน ผมเคยบอกหลายครั้งว่า คู่แข่งของพรรคก้าวไกลคือตัวเราเอง นี่ไม่ได้พูดในเชิงที่ว่าเราประมาทคู่แข่งทางการเมืองพรรคอื่นนะ แต่ผมยังยืนยันว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งมันไม่มีอะไรเป็นของตาย
ประชาชนไม่มีเจ้าของอยู่แล้ว ความคิดของคนเปลี่ยนได้ภายในปีเดียว หรือบางที 1 เดือน หรือ 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปได้หมด
เพียงแต่เรามองว่าความท้าทายสูงสุดของเราคือตัวเราเอง ในความหมายที่ว่า เราสามารถจะทำและเป็นอย่างที่เราพูดไว้ไหม รวมถึงเราสามารถทำและเป็นอย่างที่ประชาชนคาดหวังกับเราหรือเปล่า นั่นคือโจทย์ที่สำคัญที่สุดนับแต่นี้ต่อไป
ดังนั้นในช่วงนี้ ผมจึงพูดว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ในความหมายว่า ภารกิจหลักของพรรคก้าวไกล คือต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ให้ประชาชนเชื่อมั่นและวางใจให้เราบริหารประเทศในฐานะแกนนำรัฐบาล
วันที่ต้องก้าวเข้ามารับบทบาทหัวหน้าพรรคแทนพิธา มีต้นทุนอะไรที่ต้องแลกไปบ้าง
จริงๆ ก็ต้องบอกว่าทุกอย่างเร็วมาก และไม่ได้อยู่ในแผนนะ (หัวเราะ) ไม่อยู่ในแผนแน่นอน ผมเป็น สส. สมัยแรก ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านเลย เป็นสถานการณ์ที่จำเป็น
ก็มีภาระความรับผิดชอบมากขึ้น หลายเรื่องก็ทำให้งานของเราที่วางไว้ในฐานะเลขาธิการพรรคไม่สามารถจะรับผิดชอบได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่เป็นไร สามารถจัดสรรระบบในพรรคกันใหม่ได้ อย่างที่ผมเคยประกาศไว้ เมื่อพิธากลับมาแล้ว หมายถึงจบเรื่องคดีความต่างๆ ผมเชื่อว่าพรรคก็พร้อมจะปรับกรรมการบริหารพรรค
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
หากวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคจริง ได้วางตัวบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่องานของพรรคก้าวไกลไว้แล้วหรือไม่
ผมว่าการพัฒนาบุคลากรภายในพรรคต้องเป็นไปโดยธรรมชาตินะ ไม่ว่าจะเป็นหน้าบ้านหลังบ้าน ทำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีคดีความหรือไม่ จะบอกว่าจัดวางก็ไม่เชิงเสียทีเดียว ผมคิดว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับพรรค เราก็สามารถมีคนรับช่วงต่อได้แล้วจากระบบการทำงานภายในพรรค
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้น
เวลาผมพูดว่าพรรคก้าวไกลเราพร้อมเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ เราไม่ได้พูดว่าเรามี สส. เยอะ แต่ระบบของพรรคทำให้เรามั่นใจ
แม้หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ เรากลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้มากกว่าเดิม ปัจจัยสำคัญที่คนอาจสนใจน้อยกว่าความนิยมของคุณพิธาคืองานหลังบ้าน คือทีมงาน อาสาสมัครของพรรค ที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นอยู่ทั่วประเทศโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เขามีส่วนร่วมช่วยกันสร้างพรรค และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เรากลับมาได้
เคยมีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า บางทีการยุบพรรคก้าวไกลที่เขาบอกว่า ‘ยิ่งยุบยิ่งโต’ แต่ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่ต้องการยุบอาจไม่ได้ต้องการกำจัดให้หายไป แต่ต้องการ ‘ขีดเส้น’ ว่า อะไรที่ทำไม่ได้ หรือบอกว่านี่คือเส้นของสังคมที่ห้ามล้ำเข้าไป
ก็คงจะมีคนที่พยายามจะขีดเส้น ว่านี่คือเส้นที่ห้ามเข้า ห้ามล้ำ แต่ผมคิดว่าคนที่ขีดเส้นมันมีหลายคน (หัวเราะ)
ผมว่าในสังคมไม่ได้มีฝ่ายใดเป็นคนขีดเส้นคนเดียวโดยเบ็ดเสร็จ เส้นหรือเพดานของสังคมขยับตลอดเวลาอยู่แล้ว ขึ้นลงตามสถานการณ์ สภาพแวดล้อมที่เป็นจริง ไม่มีใครที่สามารถกำหนดเส้นเส้นนั้นได้หรอก แม้เราอยากจะเป็นคนกำหนด
เส้นที่เป็นจริงในแต่ละยุคสมัยก็เกิดจากสมดุล หรือข้อจำกัดในแต่ละช่วงซึ่งไม่เหมือนกัน
ขณะที่มีฝ่ายหนึ่งอยากจะขีดเส้น ผลของการพยายามจะขีดเส้น ก็อาจทำให้เกิดเส้นใหม่ที่ตัวเองไม่ปรารถนาก็ได้ อาจทำให้เกิดการตอบสนองที่ทำให้เส้นขยับขึ้นอีกก็ได้
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ถ้าอย่างนั้นลองประเมินเลยว่า สัก 10 ปีข้างหน้าในอนาคต มองเห็นความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเท่าไร ทั้งที่เกิดกับพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองอื่น ตลอดจนประเทศไทย
ผมคิดว่ามันเปลี่ยนไปมาก เพียงแต่ว่าหน้าตาจะเป็นแบบไหนไม่รู้ ผมว่าถามวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ สิ่งที่เรารู้คือ ณ วันนี้ มันเปลี่ยนมาเยอะมากแล้ว เพียงแต่ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงจุดสุดท้าย ถ้าเราขีดเส้นอีก 10 ปีข้างหน้า เราไม่รู้มันจะจบตรงไหน เรารู้แค่ว่ามีอะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะ
ถ้าเราย้อนกลับไปสัก 10-15 ปีที่แล้ว ยิ่ง 20 ปีที่แล้วนะ การเมืองไทยวันนี้ ผมว่าเราจินตนาการไม่ออกเสียด้วยซ้ำ เรามาไกลมากเลยนะ
ปัจจัยพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางการเมือง เปลี่ยนไปเยอะแล้วจากระดับข้างล่าง เพียงแต่มันยังปะทะกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ยังสู้กัน ยันกันอยู่ พลังทางสังคมแบบเก่ากับแบบใหม่ก็ยังผลัดกันรุกผลัดกันรับ เราไม่รู้มันจะจบอย่างไร ซึ่งก็คงขึ้นกับหลายเหตุปัจจัย
แต่มันเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะมันเปลี่ยนไปแล้วในระดับรากฐานหลายอย่าง ทั้งจินตนาการทางการเมือง พลังทางการเมือง ความปรารถนาทางการเมือง แม้กระทั่งในระดับทางวัฒนธรรม ซึ่งสำคัญมากๆ ผมคิดว่าทางวัฒนธรรมมันเปลี่ยนแบบล้ำไปแล้ว แต่การเมืองในระบบยังตามไม่ทัน ขึ้นอยู่กับว่าพลังของฝ่ายต่างๆ ทางการเมือง จะสามารถหาจุดสมดุลหรือจุดลงตัว หรือจะเรียกว่าฉันทมติใหม่ได้ด้วยวิธีการแบบไหน ด้วยวิธีการที่พยายามจนถึงจุดที่สามารถยอมรับว่าเราต้องร่วมกันช่วยหา หรือไม่ยอมรับจนเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง แตกหัก แล้วจึงจะไปเจอจุดสมดุลใหม่ ซึ่งก็จะหน้าตาไม่เหมือนกัน
แล้วพรรคก้าวไกลจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างจุดสมดุลใหม่ของสังคมนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับที่บางคนก็มองว่า จุดที่พรรคก้าวไกลเสนอจะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยก
ผมว่าไม่ใช่ว่าสามารถไหมนะ จริงๆ ต้องเป็นเป้าหมายด้วย ว่าเราต้องเข้าไปเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเกิดจุดสมดุลใหม่ หรือฉันทมติใหม่ให้ได้ ถ้าเรามองภาพใหญ่ เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โจทย์คือเรายังหาจุดตรงนั้นไม่เจอ เมื่อไรที่เราหาจุดตรงนั้นไม่เจอ ก็จะไม่เกิดเสถียรภาพใหม่ ก็จะอยู่กันแบบนี้แหละ
จุดตรงนั้นในจินตนาการของเรา ไม่ใช่ว่าต้องเป็นภาพสังคมที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ 100% ไม่มีทาง แต่มันต้องเป็นจุดที่แต่ละฝ่ายยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันได้ อย่าไปคิดถึงสังคมที่เป็นไปอย่างที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเห็นแตกต่างกันได้ 100% ไม่มีหรอก แต่ผมคิดว่าเป้าที่เราควรจะมองเห็นก็คือ เราจำเป็นต้องหาจุดใหม่ หรือ Common Ground บางอย่าง ที่แต่ละฝ่ายแม้จะเห็นแตกต่างกัน แข่งขันกัน ขัดแย้งกัน ยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันได้ นี่ถือเป็นเป้าหมายทางการเมืองเลย
ซึ่งเวลาเราพูดแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นะ ถ้าสังคมไทย พลังทางเศรษฐกิจและการเมืองต่างๆ ยังหาจุดสมดุลนั้นไม่ได้ หาฉันทมติใหม่ไม่ได้ ต่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มันก็เป็นแค่ชั่วคราว เพราะมันยังไม่เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ในทางความเป็นจริง หรือในทางวัฒนธรรม
ดังนั้น ผมคิดว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย ในแง่ดีนะ ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะว่ามีหลายเหตุปัจจัยมาบรรจบร่วมกันในเวลานี้พร้อมๆ กัน คือในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าสุดท้ายหน้าตาของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร ในสัก 10-15 ปีข้างหน้า แต่เรารู้ว่ามันอยู่ในช่วงเวลานี้
ถ้าใครอยากเห็นสังคมแบบไหน ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด และน่าตื่นเต้นที่สุด ที่คุณจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหน้าตาของสังคมไทยในอีกหลายทศวรรษ
เพราะพอสังคมไทยนิ่ง มันก็อาจเกิดระเบียบสังคมใหม่ไปสักระยะหนึ่ง หรือหลายทศวรรษ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคก้าวไกลจริง จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีกครั้ง เหมือนกระแสการชุมนุมที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่
เอาตรงๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เพราะถามว่าเมื่อหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ เราคาดการณ์ไหมว่าจะเกิดปรากฏการณ์แบบการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่มาโดยธรรมชาติ ก็ไม่มีใครคาดคิดใช่ไหม ตอนนั้นพอเกิดกระแสความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ เราเองยังเฝ้ามองดูเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น
พอถามผมว่า ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น ก็คาดเดายากนะ แต่แน่นอน คนจำนวนมากก็คงคับข้องใจ ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางส่วนก็อาจยิ่งเป็นแรงขับดันที่ทำให้ตัวเองอยากเข้ามาต่อสู้หรือมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม สิ่งที่ตัวเองปรารถนาถูกขัดขวางอย่างไม่เป็นธรรม
แล้วถามว่ามีบางส่วนไหมที่อาจรู้สึกเหนื่อยหรือท้อใจ ว่าสังคมไทยมันเป็นแบบนี้ แล้วก็ยอมจำนนกับมันดีไหม ก็อาจหันหลังให้การเมืองไปเลย ไม่สนใจแล้วก็อาจมี แต่เราบอกไม่ได้หรอกว่ามีเท่าไร แต่ในภาวะทางเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ ก็น่าจะทำให้คนรู้สึกอยากอยู่เฉยๆ น้อยกว่า
ตลอดระยะเวลาที่ร่วมทางกับพรรคก้าวไกล หรืออาจย้อนไปถึงพรรคอนาคตใหม่ มีสิ่งใดที่ยังรู้สึกเสียใจ เสียดาย หรือไม่ หรือหากย้อนเวลาได้ก็จะกลับไปแก้
ไม่มีนะ สิ่งที่เสียใจกับการตัดสินใจในอดีต ยังนึกไม่ออกนะ แน่นอนไม่ได้แปลว่าที่ผ่านมาตัดสินใจถูกต้องทั้งหมด มีผิดเยอะ เผลอๆ อาจผิดมากกว่าถูก แต่ถ้าจะไปถึงระดับที่อยากย้อนเวลากลับไปคงไม่มี
สิ่งที่อาจเสียดายมากกว่า อย่างการที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จริงๆ ต้องยอมรับว่ามันมีผลกระทบแน่นอน แม้ว่าเราจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ แต่หลายเรื่องก็ทำให้ขาดความต่อเนื่องในแง่การพัฒนาพรรค เอาแค่ว่าเรามาสู้คดีก็เสียเวลา เสียสมาธิกับการทำสิ่งที่เราวางเป้าหมายไว้เยอะเลย
ถ้าปีที่ผ่านมาเราไม่มีคดี เราก็อาจทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะตามเป้าหมายของเราได้มากกว่าวันนี้ แต่เราก็ต้องแบ่งเวลา แบ่งทรัพยากรไป ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบแน่นอน
ก็เหมือนกับสังคมไทย พอเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้ง เกิดการปราบปรามกันอย่างรุนแรง ก็ทำให้สังคมไทยเสียสมาธิครั้งหนึ่ง แล้วก็เสียโอกาสที่จะไปทำเรื่องที่ควรทำ ซึ่งผลก็เป็นอย่างทุกวันนี้ พอผ่านไป 10 กว่าปีสังคมไทยไม่ได้ทำอะไรสำหรับโจทย์ที่เราต้องเจอวันนี้และอนาคตเลย
เราช้ามากกับทุกเรื่อง และหลายเรื่องทำวันนี้กับทำอีก 5 ปีไม่เหมือนกันแล้ว ความยากง่ายไม่เหมือนกัน โอกาสและเวลาผ่านไปหลายเรื่องไม่รอแล้ว หลายเรื่องทำช้าก็เสียโอกาส มีต้นทุนที่สูญเสียไป ผมมองในแง่นี้มากกว่า
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
วางแผนชีวิตของตัวเองต่อไปอย่างไร
ในรายละเอียดก็คงต้องรอดูด้วยนะว่าผลคดีของพรรคจะเป็นอย่างไร แต่ในภาพใหญ่ผมคิดว่า วันที่ตัดสินใจมาร่วมทำพรรคการเมือง ตั้งแต่วันที่ยังไม่รู้ว่ามันจะชื่ออนาคตใหม่หรือเปล่า ผมว่าเราตัดสินใจแล้วว่า เราตัดสินใจที่จะทดลองเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยมือเราเองสักครั้งหนึ่งในระบบพรรคการเมืองใหญ่
เราตั้งใจกันไว้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะไม่หันหลังให้มันอีก ไม่กลับไปใช้ชีวิตเหมือนก่อนที่มีพรรคอนาคตใหม่อีกแล้ว ไม่ว่าจะบทบาทไหน
จริงๆ ก็เป็นความตั้งใจ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโปรเจกต์ทางการเมืองที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยผ่านพรรคการเมืองที่เราอยากทำ มันไม่ได้ง่ายอยู่แล้ว มันมีอุปสรรค มีแรงเสียดทานทางการเมืองมหาศาลแน่นอน ดังนั้น คิดไว้ได้ล่วงหน้าเลยว่า คุณได้เจอกับอะไรบ้าง ติดคุก ยุบพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรืออาจรุนแรงกว่านั้น ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับคนอื่นมาหมดแล้ว ก็บอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดสูงสุดที่ประเมินไว้ ยังไม่ใช่จุดเลวร้ายที่สุด
ตอนตัดสินใจทำพรรคการเมืองก็ตกลงกันไว้อยู่แล้วว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็เดินหน้าต่อ
ตัวเองในวันนี้ อยากจะพูดอะไรกับตัวเองในวันที่ 7 สิงหาคม หลังจากรู้คำวินิจฉัยแล้ว
(นิ่งคิด ก่อนจะหัวเราะ) ไม่เคยนึกเลยว่าจะพูดกับตัวเองว่าอะไร
ไม่รู้ว่าจะพูดกับตัวเองไหมนะ ผมคิดว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีอะไรต้องเสียใจ และไม่มีอะไรต้องเสียดาย
คุ้มมากนะ ผมคิดว่าการตัดสินใจสร้างพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงวันนี้ แม้จะเผชิญอะไรในอดีต หรือวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง คุ้มค่า และมีคุณค่าที่สุดเลย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร