×

วราวุธเร่งจัดระเบียบขอทานและปรับปรุงกฎหมายควบคุมการขอทานให้ทันสมัย จ่อชงเข้า ครม. กลางเดือนนี้

โดย THE STANDARD TEAM
06.08.2024
  • LOADING...
วราวุธ ศิลปอาชา

วันนี้ (6 สิงหาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์และการป้องกันแก้ไขปัญหาการขอทานว่า จากการรวบรวมสถิติสถานการณ์การขอทานทั่วประเทศจากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 กรกฎาคม 2567 พบว่า มีผู้ขอทานทั้งสิ้น 7,635 คน เป็นคนไทย 5,001 คน (ร้อยละ 65) เป็นต่างด้าว 2,634 คน (ร้อยละ 35) และในเฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่า มีผู้ขอทานทั้งสิ้น 506 คน แบ่งเป็นคนไทย 331 คน และต่างด้าว 175 คน พื้นที่ที่พบผู้ขอทานส่วนใหญ่มีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ชลบุรี, นครราชสีมา และเชียงใหม่ อีกทั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังพบขอทานมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, เชียงใหม่, ภูเก็ต และลพบุรี

 

วราวุธกล่าวว่า สาเหตุของการขอทานนั้นประกอบด้วย 

 

  1. ข้อจำกัดด้านร่างกาย / จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา 

 

  1. ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 

 

  1. อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ 

 

  1. ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน 

 

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขอทาน โดยการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขอทาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่ในการคัดกรอง คุ้มครอง และส่งต่อ ดังนั้นการดำเนินการจึงเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กร NGOs 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกันและควบคุม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้แก่ เทศกิจ, ตำรวจ, ตำรวจ ตม., ตำรวจ ปคม., เทศบาลนคร / เมืองพัทยา 31 แห่ง, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กรมจัดหางาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, องค์การเฟรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A-21), มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และสถาบันการศึกษา ซึ่งในการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบขอทานหากพบขอทานผิดกฎหมาย 

 

นอกจากนี้มีแผนอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จาก พม., เทศกิจ อปท., และการพัฒนาหลักสูตรการอบรมให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง ถอดบทเรียนการดำเนินงานจังหวัดที่ไม่พบผู้ขอทานต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก, เพชรบุรี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, สตูล, ลำปาง, นครพนม, น่าน และพังงา ซึ่งการจัดประชุมและทำแผนบูรณาการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดที่มีผู้ขอทานเพิ่มขึ้นจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, เชียงใหม่, ระยอง, ภูเก็ต, ลพบุรี, กำแพงเพชร และนครปฐม

 

วราวุธกล่าวว่า สำหรับแผนการจัดระเบียบผู้ขอทานนั้น การดำเนินการเชิญตัวผู้ขอทานถือเป็น ‘การควบคุมตัว’ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ต้องมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะเชิญตัวจนถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน จึงต้องมีตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงด้วยทุกครั้ง ดังนั้นในการจัดระเบียบขอทานจึงต้องมีการจัดทำแผนการลงพื้นที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือนสิงหาคม 2567 มีแผนจัดระเบียบในพื้นที่สำคัญจำนวน 12 ครั้ง สำหรับในต่างจังหวัดมีแผนบูรณาการลงพื้นที่เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง และในงานเทศกาลสำคัญ ตลอดจนเมื่อมีการรับแจ้งจากสายด่วน 1300 จะดำเนินการประสานตำรวจเพื่อลงพื้นที่ร่วมกัน

 

“นอกจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จะมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจและสื่อสารมวลชนในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับสังคมภายใต้ธีม ‘ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน’ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม 

 

“ภายในงานมีวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ สร้างการตระหนักรู้ด้านกฎหมาย เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ พร้อมแจกพัดที่มีข้อความว่า ‘หยุดให้ = หยุดขอทาน’ 5 ภาษา และจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ” วราวุธกล่าว

 

วราวุธกล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวทางในการพัฒนามาตรการกลไกในการควบคุม คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ขอทาน โดยในส่วนของผู้ขอทานไทยจะทบทวนแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ขอทาน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ขอทานรายบุคคลร่วมกับครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมธุรกิจและเครือข่าย CSR ให้เข้ามามีส่วนร่วม และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน 

 

และในส่วนของผู้ขอทานต่างด้าวนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานของกระทรวงและตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้เห็นจำนวนครั้งของการขอทานซ้ำ และเสนอให้ ตม. ทบทวนขั้นตอนการส่งผู้ขอทานต่างด้าวกลับประเทศ หารือกับกระทรวงการต่างประเทศหรือสถานทูตกัมพูชาในการสร้างความร่วมมือร่วมกัน 

 

นอกจากนี้การคุ้มครองเด็กที่ติดตามผู้ขอทานนั้น เสนอให้มีการทบทวนระเบียบที่เกี่ยวกับสถานที่พักพิงระหว่างรอผลตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และที่สำคัญคือการพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้มีการจัดทำหลักสูตรการอบรมตามกฎหมายเฉพาะให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง และเพิ่มเติมตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ในประกาศกระทรวง

 

วราวุธกล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวทางในการทบทวนและปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้แก่ 

 

  1. ประชุมคณะอนุกรรมการและปรับปรุงกฎหมายเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ 

 

  1. พิจารณาปรับแก้นิยามผู้ขอทาน การกำหนดอัตราโทษสำหรับผู้ขอทานและผู้แสวงหาประโยชน์จากผู้ขอทาน การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต การกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ การเพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมการขอทาน 

 

  1. การแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ขอทาน (แยกกฎหมาย / แยกหมวดจากกฎหมายเดิม) กำหนดนิยาม และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

 

  1. เสนอ (ร่าง) กฎหมายให้คณะกรรมการควบคุมการขอทานพิจารณา คาดว่าจะยกร่างได้ภายใน 6 เดือน 

 

  1. รับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการขอทานที่แก้ไข / ฉบับใหม่ 

 

  1. การพัฒนาร่างกฎหมาย 

 

  1. เสนอ ครม.

 

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาขอทานและคนไร้บ้านนับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ในมาตรการที่ 5 สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อความมั่นคงของครอบครัวนั่นคือ การพัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นหลักประกันในยามที่เผชิญกับวิกฤต ชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย ‘ปลอดภัย ปลอดพิษ เป็นมิตร และเอื้ออาทรต่อทุกคน’ ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดจากผู้ขอทาน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X