×

คนไทยแบกหนี้หนัก รายได้ต่ำ ขาดเงินออม เสี่ยงแก่ก่อนรวย และไม่มีเงินใช้หลังเกษียณ

05.08.2024
  • LOADING...
แก่ก่อนรวย

ประเทศกำลังเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาคน แก่ก่อนรวย ทำให้ไม่มีเงินใช้หลังเกษียณ จากปัญหาที่หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และไม่มีความสามารถในการออม

 

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ปัจจุบันภาพรวมครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีหัวหน้าครัวเรือนที่สูงอายุและมีรายได้น้อย อีกทั้งมีกันชนทางการเงินต่ำ สะท้อนถึงความไม่พร้อมของครัวเรือนไทยในวัยเกษียณ

 

โดยกลุ่มที่มีหัวหน้าครัวเรือนอายุ 51-60 ปี และสูงกว่าอายุ 60 ปี พบว่า มีรายได้ต่ำกว่าระดับ 30,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 42% ของครัวเรือนทั้งหมด หรือมีจำนวนประมาณ 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก สะท้อนว่าครัวเรือนของไทยมีการพึ่งพาหัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุค่อนข้างสูงและมีรายได้น้อย

 

นอกจากนี้หากดูหัวหน้าครัวเรือนไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะพบว่า มีการพึ่งพาแหล่งรายได้จากเงินภายนอกครัวเรือนสูงเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่าครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนอายุสูงกว่า 60 ปีขึ้นไปยังมีรายได้ที่ค่อนข้างน้อยและมีการพึ่งพิงจากแหล่งเงินภายนอกค่อนข้างมาก

 

โดยหากดูสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินของหัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปยังมีสัดส่วนต่ำอยู่ที่เพียงในระดับ 10 เท่าของรายได้ต่อเดือน สะท้อนว่าหากไม่มีรายได้เข้ามา จะมีกันชนทางการเงินหรือมีรายได้เพียงพอใช้ได้ในระยะเวลา 10 เดือน ถือว่าเป็นความเสี่ยงค่อนข้างสูง และจะเป็นปัญหาในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทย

 

คนอายุเกิน 60 ปีส่วนใหญ่เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

 

หากดูข้อมูลครัวเรือนที่กำลังจะเกษียณพบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 51-60 ปีที่ใกล้จะเกษียณ กลุ่มนี้มีสินทรัพย์ทางการเงินค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ หรือมีต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อราย โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่เข้าใกล้วัยเกษียณ จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนถึงประมาณ 60-70% ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ทั้งที่เป็นที่ดินและที่อยู่อาศัย ขณะที่ค่าใช้จ่ายรายเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่น่ากังวลค่อนข้างมาก

 

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นว่ามีปัญหามาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

 

  1. มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับที่สูง
  2. มีการออมที่ต่ำ

 

อีกทั้งยังพบว่า ปัญหาจากรายได้ที่ต่ำรวมถึงยังขาดวินัยในการออม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน โดยการออมที่ต่ำถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมาก ส่งผลให้ครัวเรือนเกือบทุกกลุ่มไม่มีความพร้อมในการเกษียณ

 

คนวัยทำงานสัดส่วนกว่า 50% ไม่มีความสามารถในการออมเงิน

 

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในวัยทำงานมีสัดส่วนต่ำกว่า 50% ที่ไม่มีความสามารถในการออมเงินได้ทุกเดือน อีกทั้งยังพบว่า มีสัดส่วนถึงประมาณ 25% ที่ไม่มีความสามารถในการออมเงินได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 90% ที่ไม่มีความสามารถในการออมเงิน

 

นอกจากนี้เมื่อมองระยะต่อไป หนึ่งในประเด็นที่พบในกลุ่มของคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนยังขาดความสามารถในการออม โดยในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีจะสามารถออมเงินได้ แต่ต้องมีรายได้ในระดับ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

 

แต่หากมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะต้องมีรายได้ระดับ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป จึงจะมีความสามารถในการออมเงินได้

 

สำหรับข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมของครัวเรือนไทยเพื่อเตรียมตัวเกษียณ โดยที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลในอดีตรวมถึงปัจจุบันมีความพยายามจะแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างยาวนาน แต่ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่แก้ได้ค่อนข้างยาก

 

แนะแนวทางแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

 

ดร.ปุณยวัจน์ มีมุมมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มผู้มีรายได้หรือกลุ่มช่วงวัยมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่เริ่มทำงานซึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีรายได้น้อย เพิ่งเริ่มทำงาน ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะจะต้องมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปจึงจะสามารถออมเงินได้

 

ขณะที่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะต้องมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปจึงสามารถเก็บออมได้ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจว่าปัญหาแต่ละกลุ่มในการเก็บออมและภาระรายจ่ายของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน

 

ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อให้ภาคครัวเรือนไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการเกษียณและแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย โดยรัฐบาลต้องออกนโยบายที่เหมาะสมและแก้ปัญหาได้ตรงจุดกับกลุ่มที่มีปัญหา มีแนวนโยบายที่จะเสนอแนะสำหรับกลุ่ม 6 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจทางการเงิน หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถออมเงินได้ค่อนข้างดี อีกทั้งมีความรู้ทางการเงินค่อนข้างสูง จึงควรมีนโยบายในการกระตุ้นให้มีการลงทุน เพื่อนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนสูง เพราะเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยและรายได้สูง สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ค่อนข้างมาก

 

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีอายุมากกว่า 30 ปี และมีรายได้ที่ค่อนข้างสูงหรือมากกว่า 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสที่จะเกษียณทางการเงินได้ จึงควรมีมาตรการส่งเสริมการออมคล้ายกับกลุ่มแรก

 

กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 51-60 ปีที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาท ซึ่งมีโอกาสที่จะมีรายได้และเงินออมเพียงพอที่จะเกษียณ ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกับคนกลุ่มนี้

 

โดยมองว่าทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมในการออมและการลงทุน เพื่อสร้างเกราะป้องกันทางการเงิน

 

ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือถือว่ามีความกังวลมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือนก่อนเกษียณ ถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงมาก

 

กลุ่มที่ 4 คือ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเข้าสู่ภาวะแก่ก่อนรวย โดยมีข้อแนะนำว่า รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีการออมโดยเร็วที่สุด เช่น มีมาตรการหักเงินจากประจำเดือนหรือให้ความรู้ทางการเงินต่างๆ 

 

กลุ่มที่ 5 คือ ผู้ที่มีอายุ 30-50 ปีซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน โดยคนกลุ่มนี้รัฐบาลควรเข้าไปให้ความรู้ทางการเงิน ประกอบกับออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทางภาษี โดยคนกลุ่มนี้มีการแบกภาระหนี้ค่อนข้างสูงและมีภาระในการดูแลครอบครัว ทั้งการดูแลลูกและพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอยู่หลายด้าน จึงเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis)

 

กลุ่มที่ 6 คือ กลุ่มผู้ที่หมดเวลาในการออม ซึ่งให้ความช่วยเหลือค่อนข้างยาก เป็นกลุ่มที่ใกล้เกษียณ มีรายได้ต่ำมาก และมีภาระหนี้สูง รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายสูงด้วย โดยรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือหรือนโยบายส่งเสริมด้านสวัสดิการหลังเกษียณ หรืออาจพิจารณาขยายเวลาในการเกษียณอายุงานเพิ่มเติม เพราะเป็นกลุ่มที่น่าจะเผชิญกับปัญหาแก่ก่อนรวยค่อนข้างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising