ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบล่าสุด วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบกว่า 23 ปี โดยให้เหตุผลว่า เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยที่มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อน่าจะขยับเข้าไปสู่เป้าหมาย 2% ได้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งผลการประชุมนี้ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed น่าจะมีความพร้อมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วในการประชุมเดือนกันยายนนี้
คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ หาก Fed ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป จะเป็นข่าวดีจริงๆ หรือไม่สำหรับนักลงทุน เพราะโดยปกติแล้ว Fed มักจะไม่ค่อยตัดสินใจลดดอกเบี้ยในช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากจะปรับลดดอกเบี้ยจริงก็มองว่าเป็นการดำเนินการเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจส่วนที่ยังอ่อนแออยู่ให้ดีขึ้น เช่น การบริโภคที่เริ่มขยายตัวน้อยลง และหนี้สินที่เริ่มสูงขึ้นจากภาระดอกเบี้ยที่สูง ขณะที่ภาระในการนำเสนออัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงก็จะเริ่มผ่อนคลายลงไป
เมื่อพิจารณาว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้รับผลดีหรือไม่ หาก Fed ลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้จริงตามคาด ผมมีมุมมองว่า เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น ไม่ได้ปรับขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ปรับขึ้นจากความคาดหวังว่าในอนาคตแนวโน้มการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ลงทุนอยู่จะดีขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนคาดหวังว่า Fed จะลดดอกเบี้ยมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งตลาดมองว่าจากผลการประชุม Fed รอบนี้ ทำให้เห็นว่าการลดดอกเบี้ยกำลังจะมาถึงจริงแล้วในครั้งหน้า จึงขายหุ้นออกมา หลังจากที่หุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นไปมากในช่วงที่ผ่านมา และทำให้หุ้นในทุกกลุ่มมีระดับราคาที่แพง ซึ่งก็ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง สอดคล้องกับข้อมูลในอดีตที่พบว่า หุ้นมักจะปรับขึ้นก่อนที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงแล้ว หุ้นจะปรับฐาน
ขณะที่หากกลับมาพิจารณาทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกรณีที่ Fed ลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนั้น ผมมองว่า ช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นไปมาก ในขณะที่ไทยไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปได้มากระดับนั้น แตกต่างจากในอดีตที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยมักจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งก็ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และเงินทุนต่างชาติไหลออก อย่างไรก็ตาม กรณีที่ Fed ลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้จริง ก็คงจะช่วยลดแรงกดดันที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้บ้าง จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่แคบลง ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินลงทุนต่างชาติที่เคยไหลออกไปอาจไหลกลับเข้ามา และทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าไปกว่านี้
มาถึงตรงนี้ หากนักลงทุนกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดดี หาก Fed ลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนจริง ผมมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ก็อาจตอบโจทย์ได้ดีที่สุด โดยการที่ Fed ลดดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1 เดือน – 2 ปี แต่ไม่ส่งผลกระทบอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุไม่ยาวเกินไป เพื่อคาดหวังส่วนต่างราคาจากการลงทุนในตราสารหนี้ได้บ้าง โดยอาจลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เน้นเลือกตราสารหนี้อายุเฉลี่ยไม่ยาวมาก และผู้จัดการกองทุนมีการบริหารจัดการการลงทุนในตราสารหนี้ได้สอดคล้องกับสถานการณ์
คำเตือน:
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777