ประวัติศาสตร์มักเป็นเครื่องมือที่ถูกหยิบยกมาใช้อยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นพื้นที่ว่างที่เปิดกว้างให้คนทำสามารถเติมแต่งจินตนาการลงไปได้โดยที่ไม่ติดพันกับความจริงใดๆ ยกตัวอย่างเช่นหนังเรื่อง Inglourious Basterds (2009) ของ Quentin Tarantino ที่มีพื้นหลังอยู่ในช่วงนาซีเยอรมนี แต่เล่าด้วยท่าทียียวนกวนประสาทจนทำให้เนื้อหาดูขำขันย้อนแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ในทำนองเดียวกัน ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพซึ่งเป็นหนังเรื่องล่าสุดของ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน นั่นคือการสร้างโลกสมมติของตัวเองขึ้นมาโดยวางเส้นเรื่องอยู่ในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังต้องการจะบุกไปยังจีนและอินเดียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ่งที่เป็นแกนหลักคอยขับเคลื่อนเรื่องราวก็คือ ฟุเมตสึ อาวุธชีวภาพที่มีหน้าตาคล้ายกับซอมบี้ที่หลุดออกมาในตอนที่พวกเขากำลังยกพลขึ้นบกผ่านทางจังหวัดชุมพร ทำให้กองกำลังทหารและกลุ่มยุวชนทหารหน่วย ช.พ.๑ ถูกเกณฑ์ออกไปรบเป็นจำนวนมาก ซึ่ง เมฆ (ชานน สันตินธรกุล) นายสิบผู้รักชาติก็พร้อมที่จะเข้าร่วมสมรภูมิเพื่อปกป้องแผ่นดิน แต่ หมอก (อวัช รัตนปิณฑะ) ผู้เป็นน้องชายกลับไม่คิดเช่นนั้น
และอย่างที่หลายคนพอเดากันได้ ฟุเมตสึ ได้ออกอาละวาดแพร่เชื้อใส่ทหารไทยและญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วโดยไร้การควบคุม ทำให้สถานการณ์ที่ดูตึงเครียดอยู่แล้วเริ่มทวีความรุนแรง เมื่อศัตรูที่ต้องรบราด้วยไม่ใช่คนอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือสามัญสำนึกของพวกเขา ทั้งสองฝ่ายจึงต้องหันมาจับมือกันเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตนี้
ฟังๆ แล้ว พล็อตเรื่องของ ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพก็ไม่ต่างอะไรกับสูตรสำเร็จของหนังซอมบี้ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะทำเนาได้คือจุดกำเนิดของมันอาจอ้างอิงมาจากเรื่องราวของหน่วย 731 ซึ่งเป็นหน่วยที่จักรวรรดิญี่ปุ่นนำเอาเชลยศึกมาทำการวิจัยเพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เพียงแต่ครั้งนี้มันถูกเปลี่ยนเป็นการฉีดเชื้อให้กับทหารญี่ปุ่นที่ยังไม่เสียชีวิตแทน
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การกระทำของพวกเขาเป็นไอเดียให้แก่คนทำหนัง ย้อนกลับไปปี 1988 ผู้กำกับชาวจีนนามว่า Mou Tun-fei ก็เคยเอาวีรกรรมของทหารกลุ่มนี้มาสร้างเป็นหนังเรื่อง Men Behind the Sun เพื่อตีแผ่ความโหดร้ายของญี่ปุ่นที่กระทำต่อคนจีนในช่วงเวลานั้น โดยเนื้อหาที่นำเสนอออกมาก็เผยให้เห็นถึงความอำมหิตของการจับมนุษย์มาทดลองได้เป็นอย่างดีจนถึงขั้นถูกแบนไปหลายประเทศ
ไม่มากไม่น้อย รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพนำมาใช้จึงมีอยู่จริง แม้ตามบันทึกจะไม่เคยมีการยืนยันว่าพวกเขาทำสำเร็จ แต่คำถามสำคัญในแง่ของการเป็นภาพยนตร์และ What if คือ ถ้าทำสำเร็จหน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าที่มาที่ไปนั้นคงจะหลีกเลี่ยงการเดินตามขนบทั่วไปของหนังซอมบี้ได้ยาก
การเล่าเรื่องต่อต้านสงครามผ่านชีวิตวัยรุ่นที่กระโจนเข้าสู่สนามรบอย่างรวดเร็วเลยกลายเป็นการจั่วหัวที่น่าสนใจที่สุดในช่วงสิบนาทีแรก แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไรความเสี่ยงในการเลือกเส้นทางนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะหนังแทบไม่ได้บอกเล่าความสัมพันธ์อันลึกตื้นหนาบางของตัวละครเลย สิ่งที่คนดูรับรู้จึงมีแค่เรื่องผิวเผินอย่างการเป็นครอบครัว เพื่อน และคนรัก โดยที่กลไกของมันยังขาดตกบกพร่องเรื่องน้ำหนักอยู่พอสมควร
ด้วยความเป็นหนังแอ็กชันไม่ใช่หนังดราม่าแบบ Train to Busan (2016) การปูพื้นตัวละครก็อาจไม่ใช่เครื่องชี้วัดในแง่ของความบันเทิงอย่างเดียว และด้วยประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา ก้องเกียรติ โขมศิริ ยังคงรักษามาตรฐานในการกำกับฉากแอ็กชันของตัวเองได้ดีแม้จะต้องแลกกับส่วนอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความกระท่อนกระแท่นก็ตาม โดยเฉพาะการตัดต่อที่ให้พื้นที่แก่นักแสดงคนอื่นน้อยมากจนบทบาทของพวกเขาแทบจะจางหายไปจากโสตประสาทของคนดู หลงเหลือเพียงแค่ อัด อวัช และ นนกุล ที่ทั้งคู่ดูเหมือนจะเป็นคนที่แบกรับความอิหลักอิเหลื่อทั้งหมดเอาไว้
อีกคนที่มีบทบาทโดดเด่นซึ่งผู้ชมน่าจะรู้สึกสะดุดตาได้อย่างไม่ยากเย็นก็คือ เซกิ โอเซกิ นักแสดงชาวญี่ปุ่นที่บางคนอาจคุ้นหน้าเขาจากการเป็นตัวเอกในหนังเรื่อง ซามูไร อโยธยา (2010) ของ นพพร วาทิน และ โกโบริ ในละครเวที คู่กรรม The Musical (2020) ที่คราวนี้ถึงจะไม่ได้โชว์ฝีไม้ลายมืออะไรเป็นพิเศษ แต่คาแรกเตอร์อันน่ายำเกรงของเขาก็ทำให้หัวหน้าหน่วยพิฆาตกลายเป็นที่จดจำของคนดูมากขึ้น
แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น หนังไม่ได้วางรากฐานที่แข็งแรงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม การที่คนดูรู้สึกว่าขาดอารมณ์ร่วมกับตัวละครย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นคงเป็นเหมือนโดมิโนที่พร้อมจะพังครืนลงมาทุกเมื่อ
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นผลพวงอันเกิดจากวิธีการเล่าอีกอย่างก็คือการพยายามยัดทุกอย่างเข้ามาภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเชิงอุดมการณ์ ความรักชาติ การต่อต้านสงคราม ดราม่าครอบครัว ทั้งหมดดูเหมือนจะอยู่ผิดที่ผิดทางไปหมด และความแปลกแปร่งของการตัดต่อก็ยิ่งทำให้บางประเด็นถูกตีฟูจนกลายเป็นการสร้างความยืดเยื้อให้กับมันแทน โดยปริยายความสำคัญในส่วนอื่นจึงถูกลดทอนคุณค่าลงและอาจส่งผลให้ ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพถูกมองว่าเป็นหนังที่มีดีแค่แอ็กชันแต่ไม่สามารถผลักดันเรื่องราวของตัวเองได้เลย
พอพูดในแง่นี้ การจะไม่กล่าวถึงโปรดักชันที่ช่วยชีวิตหนังเอาไว้ก็คงจะไม่แฟร์เท่าไร เพราะนี่คือส่วนสำคัญที่ต่อลมหายใจให้กับหนังทุกประการจริงๆ ทั้งความดิบ โหด เลือดสาด ทุกอย่างถูกทำออกมาอย่างสมจริงและเต็มไปด้วยความสะอิดสะเอียนชวนอ้วก แต่ถึงอย่างนั้นทุนสร้างที่จำกัดก็ทำให้ CGI ในหลายๆ ฉากยังคงมีปัญหา เช่น ไฟ ที่คนดูค่อนข้างจะแยกแยะคุณภาพได้ด้วยตาเปล่าจนบางครั้งมันก็สร้างปัญหาให้กับอรรถรสในการรับชมอย่างชัดเจน
จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา แม้หนังจะเต็มไปด้วยความไม่น่าอภิรมย์มากมาย แต่สิ่งที่แปลกตาที่สุดก็คงหนีไม่พ้นช่วงท้ายของเรื่อง ที่เหล่าบรรดาซอมบี้ได้เปลี่ยนสถานะจากผู้ล่ากลายมาเป็นผู้ที่ถูกตามล่าแทน ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง การพลิกแพลงนี้ดูจะเป็นสิ่งที่คนทำตั้งใจเอามาใช้บอกเล่าผลพวงอันน่าเศร้าที่กำลังกัดกินมนุษย์และอมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม แต่สุดท้ายด้วยวิธีการนำเสนอที่ค่อนแคะ แง่มุมเหล่านี้ก็ถูกกลืนหายไปพร้อมกับไฟที่แผดเผาชีวิตของพวกเขาทุกคน
ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ เข้าฉายแล้วในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่าง ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ ได้ที่: