ปัญหาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในขณะนี้ต้องถือว่ามีความน่าเป็นห่วงทั้งสถานการณ์หนี้ที่สูง ค่าเงินกีบที่อ่อนคงลงอย่างหนัก รวมถึงประเด็นปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ KResearch ออกวิเคราะห์ประจำเดือนสิงหาคม 2567 อัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจอาเซียน โดยส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ระบุว่า วิกฤตหนี้ต่างประเทศภาครัฐของ สปป.ลาว ที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางเงินกีบอ่อนค่า กดดันต้นทุนการเงินและเพิ่มภาระดอกเบี้ย
ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอชำระหนี้เงินกีบอ่อนค่าและเงินเฟ้อระดับสูง ทำให้ธนาคารกลาง สปป.ลาว ยังคงดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงไว้ในช่วงที่เหลือของปี 2024 บวกจากรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหนุนดุลการค้าเกินดุลสูงขึ้นและดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสเกินดุลเล็กน้อย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาทุนสำรองฯ
สปป.ลาว เหลือเงินดอลลาร์ให้ใช้แค่ 2 เดือน
โดยข้อมูลทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป.ลาว ณ เดือนมีนาคม 2024 เหลืออยู่ที่ 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงพอชำระค่าสินค้านำเข้าได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น
ขณะที่ทางการของ สปป.ลาว พยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้มาโดยตลอด แต่ต้องอาศัยเวลา ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ทางการจะเจรจาเลื่อนการชำระหนี้ รวมถึงใช้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ผ่านการแลกหนี้เป็นทุน (Debt-for-Equity Swaps) เช่น การให้เจ้าหนี้เข้าควบคุมสาธารณูปโภคด้านพลังงานของรัฐ และใช้ที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษของ สปป.ลาว
โดยค่าเงินกีบยังอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับต้นปี 2567 อ่อนค่าลง 7.9% มาอยู่ที่ 20,676 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2024)
ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าธนาคารกลาง สปป.ลาว จะยังคงมาตรการคุมเข้มทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อจากการอ่อนค่าของเงินกีบซ้ำเติมกำลังซื้อในประเทศ หลังวันที่ 7 มีนาคมที่ปีนี้ผ่านมา ธนาคารกลาง สปป.ลาว ขึ้นดอกเบี้ยจาก 7.5% เป็น 8.5% อีกทั้งวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจาก 8.5% เป็น 10%
ทองออกวิกฤตเศรษฐกิจ สปป.ลาว
ด้าน รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา ศูนย์เกาหลีศึกษา และศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โครงการก่อสร้างระบบรถไฟจีน-สปป.ลาว เกิดขึ้นในรูปแบบของการลงทุนร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย คือทั้ง สปป.ลาว และจีน ความเป็นเจ้าของและการรับผิดชอบภาระหนี้จึงเป็นของทั้ง 2 ประเทศอยู่แล้วตั้งแต่ต้น โดยจีนถือหุ้น 70% และ สปป.ลาว ถือหุ้น 30% ดังนั้นภาระหนี้ของ สปป.ลาว ในโครงการมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนี้จึงตกอยู่กับ สปป.ลาว ประมาณ 1.4-1.6 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (เทียบกับยอดหนี้สาธารณะรวมของ สปป.ลาว ที่ระดับ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ดังนั้น หนี้จากโครงการรถไฟจึงไม่น่าจะถูกเรียกว่าเป็นกับดักหนี้ดังที่หลายๆ สำนักมักจะกล่าวอ้าง ทั้งนี้ต้องอย่าลืมด้วยว่าหนี้สาธารณะจากการสร้างรถไฟนี้ถูกรับรู้ไปแล้วตั้งแต่ก่อนโรคโควิด ในขณะที่ สปป.ลาว มีหนี้สาธารณะประมาณ 69% ของ GDP หนี้สาธารณะก้อนใหญ่เกิดขึ้นเพราะการกู้มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโรคโควิดมากกว่า จีนทำให้ สปป.ลาว มีหนี้สาธารณะทะลุ 100% ของ GDP
โดยทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจ สปป.ลาว เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศที่เคยเผชิญภาวะวิกฤตในลักษณะคล้ายกัน ควรดำเนินการดังนี้
- แก้ปัญหา Dollarization คือหัวใจ ต้องทำให้คนลาวใช้เงินกีบ ต้องทำให้ธุรกรรมต่างๆ ใน สปป.ลาว เกิดขึ้นโดยใช้เงินกีบ รวมทั้งการออมและการลงทุนของคนลาวต้องเป็นเงินกีบ ทั้งนี้เพื่อให้กระทรวงการคลังและธนาคารกลางของ สปป.ลาว มีอิสระในการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินและนโยบายการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Currency Board คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่เงินตราที่นำออกใช้ต้องมีเงินตราสกุลหลัก (อาจเป็นเงินสกุลเดียวหรือหลายสกุลก็ได้) และสินทรัพย์ต่างประเทศ หนุนหลังไม่น้อยกว่า 100% และต้องดูแลให้เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีเงินสำรองหนุนหลังอย่างเต็มที่
- ระบบตะกร้าเงินคือการผูกค่าเงินสกุลท้องถิ่นเข้ากับกลุ่มเงินของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศ เช่น เงินหยวน, ดอลลาร์สหรัฐ, บาท, ยูโร จากนั้นคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบตามสัดส่วนผสมการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าของเงินในตะกร้าเงิน และต้องมีคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นผู้ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนทุกวัน
- สปป.ลาว ต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมหาศาล ที่พึ่งและทางออกมักจะเป็นการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือใช้กลไก Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM) ข้อผูกพันการให้สภาพคล่องทางการเงินฉุกเฉินระหว่างประเทศ โดยเป็นกองทุนขนาด 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ต้องคำนึงถึงมาตรการในระยะกลางและระยะยาวในการดึงดูดเงินลงทุน ขยายฐานรายได้ของประเทศ สร้างฐานการผลิต สร้างความหลากหลายของสินค้าที่ผลิตและส่งออก กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินค้าและบริการนำเข้าจากต่างประเทศ และปฏิรูปภาคการผลิตของประเทศ ในระยะเร่งด่วนและระยะสั้น
- สื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ชาวลาวได้เข้าใจ สร้างความรักชาติ (Patriot ไม่ใช่ Nationalist) ให้เกิดขึ้น และต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงาน โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของ สปป.ลาว จะฟื้นกลับมาได้