เต่าตนุ คาดว่าอายุประมาณ 2-3 ปี เกยตื้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน และถูกนำมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ทะเล ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ และดำน้ำได้บ้าง
หลังเจ้าหน้าที่พยายามช่วยชีวิตอย่างสุดความสามารถอยู่ 2 วันเต็มๆ แต่สุดท้ายเต่าตัวนี้ก็จากไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ก่อนวันทะเลโลก
ทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ทำการชันสูตรผ่าซากเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต พบว่าภายในกระเพาะอาหารพบขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกขนาดเล็ก เช่น หนังยาง เชือกฟาง เชือกไนลอน ถุงพลาสติก เศษพลาสติก และเศษเครื่องมือประมง
สาเหตุที่เต่าตนุตัวนี้ตายก่อนวัยอันควรเพราะกินขยะพลาสติก ทำให้ไม่อยากอาหาร มีโปรตีนต่ำ น้ำไหลออกช่องว่างลำตัว เพราะการดึงน้ำโดยโปรตีนในเลือดล้มเหลว เกิดน้ำคั่งในช่องท้องและถุงหุ้มหัวใจ และหัวใจล้มเหลว
เต่าตนุตัวนี้เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากปัญหาขยะของไทย ขณะที่ก่อนหน้านี้วาฬนำร่องครีบสั้นก็ตายไปเนื่องจากกินขยะพลาสติกไปกว่า 8 กิโลกรัม นับได้จำนวน 85 ชิ้น
ขณะที่เว็บไซต์ change.org ได้มีผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์หัวข้อ ‘เรียกร้องให้ห้างร้าน (เช่น 7-Eleven, Lotus, Big C) คิดเงินค่าบริการถุงพลาสติกเพื่อลดขยะพลาสติก’
โดยผู้ตั้งแคมเปญที่มีชื่อว่า Korawit Booranakit ได้ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่ร้านค้าในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไม่แจกถุงพลาสติก หากลูกค้าต้องการก็จะคิดเงินค่าถุงพลาสติก 2 บาทต่อถุง สามารถลดจำนวนถุงจากเดือนละ 102,465 ใบ เหลือเพียง 4,795 ใบต่อเดือนภายใน 3 เดือนแรกที่เริ่มโครงการ อีกหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีนโยบายคล้ายๆ กันในการลดปริมาณขยะพลาสติก และก็มีผลลัพธ์ใกล้เคียงกับของมหาวิทยาลัยมหิดล
Photo: เฟซบุ๊ก ReReef และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง