×

‘วิรัตน์’ ส.ก.มีนบุรี โต้กลับ ‘วิโรจน์’ กล่าวหาเลื่อนลอย ปมเพื่อไทยไม่ตั้งบุคคลภายนอกพิจารณางบฯ กทม. 68 เสี่ยงฮั้ว

โดย THE STANDARD TEAM
29.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (29 กรกฎาคม) วิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตมีนบุรี และอดีตประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้มีบุคคลภายนอกเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. 2568 ทั้งยังกล่าวว่าเพื่อไทยลดจำนวนอนุกรรมการน้อยลง และมีผลทำให้เกิดการฮั้วได้ง่ายนั้น

 

วิรัตน์ชี้แจงว่า

 

  1. เรื่องนี้เป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและไร้ความรับผิดชอบต่อการทำงานหนักของสภากรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก เพราะยังไม่มี ส.ก., สมาชิกของพรรคเพื่อไทย หรือผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่วิโรจน์กล่าวอ้าง มีมติอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้

 

  1. ส.ก. คือตัวแทนของประชาชนชาว กทม. ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในระดับเขต รู้ลึกถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนในแต่ละเขตเป็นอย่างดีว่าต้องการอะไร ขาดเหลือสิ่งใด และต้องการงบประมาณสนับสนุนในส่วนใดได้บ้าง

 

  1. ส.ก. มีหน้าที่กลั่นกรองและลำดับความสำคัญความต้องการของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ความต้องการของคนใดคนหนึ่ง หรือความเห็นของคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งความเห็นนั้นสามารถกระทบต่อความต้องการของประชาชนเขตอื่นๆ และอาจขัดแย้งกับความเห็นของ ส.ก.เขตนั้นๆ เองด้วย

 

  1. การพิจารณางบประมาณของ กทม. เป็นการนำปัญหาของประชาชนมาพิจารณาเพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ยังไม่มีตัวเงินออกมา การที่วิโรจน์กล่าวหาว่าฮั้วนั้น ไม่เพียงเป็นการลดทอนการทำงานของ ส.ก. พรรคอื่น ยังลดทอนการทำงานของ ส.ก. พรรคก้าวไกลด้วย

 

  1. การนำบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็น เป็นกลไกที่สามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเองเคยแต่งตั้งบุคคลภายนอก ร่วมพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ ในท้ายที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่า กทม. ไม่มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติดังกล่าว จนปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สำเร็จ

 

  1. เมื่อครั้งที่ตนเป็นประธานสภากรุงเทพมหานครในสมัยที่ผ่านมา พบว่าบุคคลภายนอกที่ไม่รู้ลึกถึงความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตดีเพียงพอ มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งในระหว่างการพิจารณากฎหมาย และส่งผลให้บางนโยบายไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละเขต ทั้งที่มีความเห็นจาก ส.ก. ตัวแทนเขตอยู่แล้ว

 

  1. ในอดีตมีสมาชิกสภาเขตมาร่วมพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. แต่ปัจจุบันไม่มี จึงมีการปรับปรุงให้มีกรรมการสามัญประจำสภาที่ผ่านการฝึกฝน และผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาแล้ว

 

  1. กรณีที่วิโรจน์กล่าวอ้างว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยที่จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการพิจารณางบฯ กทม. นั้น เป็นความเห็นของฝ่ายบริหาร กทม. ส่วนสภากรุงเทพมหานครเปรียบเสมือนฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่พิจารณา ถกเถียง หาจุดสมดุลของกฎหมาย การยกความเห็นของผู้ว่าฯ กทม. มาสนับสนุนแนวคิดของตน ย่อมเท่ากับว่าวิโรจน์มองข้ามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุลหรือไม่

 

  1. กระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณหลังงบฯ ผ่าน คือผู้ว่าฯ กทม., และกระบวนการตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ทุกอย่างมีกลไกอยู่แล้ว

 

“หน้าที่ของ ส.ก. มีระบุอยู่ในบทบัญญัติชัดเจนว่า หัวใจสำคัญของ ส.ก. คือ กระบวนการพิจารณางบประมาณ ผมเชื่อว่า ส.ก. และกรรมการวิสามัญทุกคนทำงานอย่างรอบคอบรัดกุมตามขั้นตอน ไม่สร้างปัญหาระหว่างทาง สิ่งนี้น่าจะเกิดประโยชน์กับชาว กทม. มากที่สุด” วิรัตน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X