วันนี้ (25 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า ปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ที่มี วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือเชิญ เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ขออนุญาตนำเข้า ปลาหมอคางดำ ในราชอาณาจักรไทยจากกรมประมง เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์
ก่อนการประชุม ณัฐชากล่าวว่า ในเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการได้รับหนังสือจากทางบริษัทดังกล่าวว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยทำเป็นหนังสือลาประชุม
ณัฐชากล่าวว่า ตนอยากให้บริษัทเอกชนใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสารกับประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก และเวทีของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ที่ท่านสามารถแสดงความบริสุทธิ์ใจได้ แต่หากท่านเลือกนั่งแถลงข่าวกับสื่อเพียงไม่กี่สำนัก ขาดการโต้แย้งในการซักถาม ก็จะสร้างความสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้น
ส่วนหลังจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ จะทำอย่างไรต่อไปนั้น ณัฐชากล่าวว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการฯ ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เมื่อขอไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือหรือข้อมูล ก็ต้องสรุปตามข้อมูลที่เรามี ซึ่งเรามีข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะฉะนั้นในสัปดาห์หน้าเราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้องต่อไป รวมถึงเชิญหน่วยงานมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ เพราะปลาสายพันธุ์นี้ทำลายชีวิตของเกษตรกรไปนับไม่ถ้วน
สิ่งที่กรมประมงได้ชี้แจงไว้พบว่า บริษัทได้ทำผิดเงื่อนไข ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต โดยยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าบริษัทเป็นต้นตอที่ทำให้ปลาสายพันธุ์นี้หลุดออกมา เพราะไม่มี DNA ต้นทางของปลาสายพันธุ์ดังกล่าวในปี 2554 มีเพียง DNA ของปี 2560 และ 2565 ไม่สามารถยืนยันได้ เพียงแต่สันนิษฐานได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าปลาหมอคางดำมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาต โดยเงื่อนไขจะต้องส่งซากปลาที่ทำลายทิ้งแล้วให้กับกรมประมง จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2550-2560 กลับไม่พบตัวอย่างปลาสายพันธุ์นี้ ขณะที่ข้อสงสัยว่าในปี 2554 ขวดโหลซากปลาอาจจะหายไปกับน้ำท่วมใหญ่นั้น แต่ในห้องแล็บของกรมประมงยังมีพันธุ์ปลาปี 2550 ดังนั้นจะหายเพียงแค่ปี 2554 ไม่ได้ เพราะในห้องแล็บมีขวดโหลอยู่ราว 5,000 ขวด น้ำท่วมจะพาไปแค่ 2 ขวดไม่ได้
ณัฐชาอธิบายต่อว่า ตามเงื่อนไข บริษัทต้องส่งซากปลาให้กับกรมประมง 2 ขวด รวม 50 ตัว แต่จากการตรวจสอบไม่มีรายงานรับขวดโหลดังกล่าว โดยในบ่ายวันนี้จะมีการสร้างญัตติด่วนด้วยวาจา ทีมอภิปรายของพรรคก้าวไกล 13 คน เตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานเท่าที่มีตั้งญัตติด่วน เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลให้เห็นปัญหาการแพร่ระบาดครั้งใหญ่และรุกรานสัตว์น้ำ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ แต่เกษตรกรตายรายวัน อยู่เฉยๆ แล้วรอการแก้ไขไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ซึ่งจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน
“เราไม่ต้องการส่งมอบระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง เรามีบริษัทเอกชนพยายามนำเข้าปลาจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ล่าสุดคือปลาเก๋าหยก ซึ่งนำเข้าจากบริษัทเอกชนรายเดิม เรากังวลว่าจะหลุดรอดออกไปอีก”
สำหรับคณะอนุกรรมาธิการฯ จะส่งพยานหลักฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดี สิ่งที่เราทราบคือเอกชนนำเข้าเพียงรายเดียว ส่วนการกำจัดทำลายยังไม่มีรายงาน โดยในปี 2560 เราเจอปลาสายพันธุ์นี้ในบ่อพักน้ำของบริษัทดังกล่าว หากบอกว่ามีการระบาดภายนอกแล้วเล็ดลอดเข้ามาก็ต้องตั้งคำถามกลับว่า ปลาข้างในเล็ดลอดออกไปได้บ้างหรือไม่ กรมประมงก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุม อำนาจของคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำสุดความสามารถแล้ว โดยในวันนี้จะสรุปข้อมูลเพื่อส่งให้ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่การประชุม วาโยได้อ่านรายงานหนังสือชี้แจงของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทได้รับการแจ้งหนังสือจากคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้ว แต่ไม่สามารถเข้าร่วมการชี้แจงในครั้งที่ 2 นี้ได้ เนื่องจากติดภารกิจ โดยได้ส่งเอกสารชี้แจงรายละเอียดจำนวน 4 ใบ
สำหรับสาระสำคัญในเอกสารนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่าได้นำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว ในปี 2553 และปลาหมอคางดำได้ทยอยตายไปเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 50 ตัว จึงได้ยุติการดำเนินการไป
เอกสารชี้แจงดังกล่าวระบุอีกว่า เมื่อบริษัทได้ยุติการดำเนินการเกี่ยวกับปลาหมอคางดำแล้ว จึงได้นำไปฝังโดยปูนขาวเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2554 โดยแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่กรมประมงแล้ว และส่งปลาดองฟอร์มาลีนให้กับเจ้าหน้าที่ไปด้วย
ทั้งนี้ โดยสรุปนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีการวิจัยเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลยตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 แม้จะมั่นใจว่าไม่ใช่ต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ แต่บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้ประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วนแล้ว
วาโยกล่าวอีกว่า ในเอกสารการชี้แจง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้แนบเอกสารผลการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 มาด้วย โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งจากการพิจารณาของตนเห็นว่า เอกสารดังกล่าวนี้ระบุถึงชื่อของนักวิชาการประมง 4 คน รวมถึงชื่อของ บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกร 7 ด้วย ซึ่งจากนี้เป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมาธิการฯ จะต้องซักถามยังกรมประมงต่อไป