วันนี้ (24 กรกฎาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงถึงความคืบหน้าสำคัญของโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณารายละเอียดโครงการอย่างรอบคอบ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว เมื่อเริ่มดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ ร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ และการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคน จะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
“มีหลายคนถามว่าทำไมล่าช้า คิดไปทำไปหรือไม่ ถ้าดูโครงการเติมเงินในอดีต ท่านสามารถเติมเงินได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ฐานราก ประชาชน เราอยากจะเห็นโจทย์ที่หนึ่งคือต้องตั้งต้นปัญหา มีเงินในกระเป๋าเพื่อใช้จ่าย ไม่ใช่เป็นโครงการอุดหนุน เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และน่าจะมีผลในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เติมไปครั้งเดียว หวังว่าโครงการนี้จะสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ” พิชัยกล่าว
คนมีสมาร์ทโฟนเริ่มลงทะเบียนวันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า สำหรับกำหนดการเข้าร่วมโครงการจะเปิดลงทะเบียนประชาชนทั่วไปที่มีสมาร์ทโฟน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยไม่จำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45-50 ล้านคน
กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567
ส่วนการลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการได้ในระยะต่อไป โดยจะให้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
ขณะที่การใช้จ่ายของกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้นการลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ทโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
ร้านค้าเริ่มลงทะเบียนวันที่ 1 ตุลาคม 2567
จุลพันธ์กล่าวอีกว่า ในส่วนการลงทะเบียนร้านค้าเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะแถลงข่าวเพิ่มเติม เพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทาง วิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ทราบต่อไป
ดิจิทัลวอลเล็ตไม่เหมือนที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูล-วิจัยเดิมไม่ได้
ด้าน เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังเคยทำตัวเลขประเมินไว้ว่าจะส่งต่อเศรษฐกิจ 1.2-1.8% แต่จากเงื่อนไขต่างๆ ไม่เหมือนกับโครงการที่ผ่านมา ไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลจากทางวิชาการ ข้อมูลจากงานวิจัย หรืออะไรต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจเท่าไรอย่างแน่ชัด การประเมินต่างๆ ต้องดูลงไปในรายละเอียดและการหมุนต่อระบบเศรษฐกิจ พร้อมการันตีว่าเงินทุกบาทต้องมีภาษีเข้าสู่รัฐบาล จึงกำหนดเงื่อนไขว่าร้านค้าที่ลงทะเบียนจะต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบการเสียภาษีเท่านั้น
จุลพันธ์กล่าวเสริมว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในปี 2567 แต่อาจไม่เต็มที่มากนัก เพราะกว่าโครงการจะออกมา โรงงานต่างๆ ต้องเริ่มผลิต ก็จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจทันที แต่ขึ้นอยู่กับว่าทำได้เร็วแค่ไหน แต่ผลจริงๆ จะไปเกิดขึ้นในปี 2568
ขณะที่แหล่งเงินงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลังยืนยันว่า ในกรอบงบประมาณสามารถบริหารจัดการได้ ไม่มีปัญหาใดๆ และไม่กระทบภารกิจอื่นของรัฐด้วย ซึ่งทำได้ทั้งการออก พ.ร.บ.งบประมาณ เพิ่มเติม การโอนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณ หรือบริหารจัดการในงบกลาง
ดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีทุจริต ทุกบาทผู้รับคือประชาชน
ส่วนก่อนหน้านี้ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีข้อกังวลเรื่องการทุจริตต่างๆ ได้เตรียมวางระบบป้องกันไว้อย่างไร จุลพันธ์กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ทุกครั้ง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการป้องกันการทุจริต และไม่เคยได้ยินเรื่องการทุจริตในโครงการ เชื่อว่าการทุจริตของภาครัฐเองไม่สามารถทำได้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์จะมีผู้รับคือประชาชน ยืนยันว่ารัฐจะระมัดระวังในเรื่องการทุจริต และได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อมาติดตามการใช้เงิน
ทั้งนี้ ระบบฐานข้อมูลยังเป็นระบบบล็อกเชน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการซื้อขายจะถูกบันทึกไว้ครบถ้วน เมื่อตรวจสอบพบว่ามีการซื้อขายผิดประเภทจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
อุทธรณ์ได้หากไม่ได้รับสิทธิ
จุลพันธ์กล่าวอีกว่า กรณีที่ลงทะเบียนแล้วและพบว่าไม่ได้สิทธิ ประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งในวันที่แจ้งสิทธิ แอปจะแจ้งขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไร พร้อมให้คำแนะนำในการอุทธรณ์ รวมถึงระบุเหตุผลในการไม่ให้สิทธิด้วย
เริ่มลงทะเบียนเวลา 00.01 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนความพร้อมของแอป ‘ทางรัฐ’ จุลพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ในแอปยังไม่ได้เปิดให้ยืนยันสิทธิสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่สามารถเข้าแอปเพื่อยืนยันตัวตนไว้ก่อนได้ ซึ่งในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 00.01 น. จะปรากฏปุ่มให้ลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิได้ตลอด 24 ชั่วโมง อาจดีเลย์บ้างหากมีผู้ใช้จำนวนมาก แต่ยืนยันว่าสามารถรองรับได้ อาจใช้เวลามากกว่าปกติ
ผู้ป่วยติดเตียงรอแถลงช่องทางพิเศษกลางเดือนกันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม จุลพันธ์ระบุว่า จะชี้แจงรายละเอียดของโครงการ 3 ครั้ง ครั้งต่อไปในเรื่องกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และการลงทะเบียนร้านค้า ที่จะรวมทั้งร้าน 7-Eleven และซีเจ มอร์ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งคาดว่าช่วงใกล้กลางเดือนกันยายนจะมีการแถลงลงทะเบียนในกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนและการลงทะเบียนร้านค้า
สำหรับผู้ป่วยติดเตียง กระบวนการลงทะเบียนเหมือนกลุ่มปกติทั้งกลุ่มที่มีหรือไม่มีสมาร์ทโฟน ส่วนกระบวนการใช้เงินจะเปิดช่องทางเป็นกรณีพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง แต่จะมีความรัดกุมของระบบด้วย ซึ่งน่าจะแถลงรายละเอียดในครั้งที่ 3 ที่เป็นการแถลงเรื่องการใช้เงินในกลุ่มต่างๆ ส่วนจะได้ใช้เงินจริงๆ นั้นก็ยังยืนยันว่ายังอยู่ในไตรมาส 4 ซึ่งมีโอกาสเร็วกว่าเดือนธันวาคม