×

เปิดวิสัยทัศน์ 4 สว. ผู้ท้าชิงนั่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1

โดย THE STANDARD TEAM
23.07.2024
  • LOADING...
สว.

วันนี้ (23 กรกฎาคม) ในการประชุมวุฒิสภาชุดที่ 13 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมี พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี สมาชิกวุฒิสภาผู้มีอาวุโสสูงสุดในสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว เข้าสู่วาระการเลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 โดยมีผู้ที่ได้รับการได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์, นพดล อินนา, ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ และ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ซึ่งแต่ละคนจะต้องแสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที ตามลำดับ และลงคะแนนเป็นการลับ

 

พล.อ. เกรียงไกร กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนเองจะยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จนกว่าชีวิตจะหาไม่ และขอให้ความเชื่อมั่นต่อเพื่อนสมาชิกที่จะดำเนินการทางการเมืองและองค์กรอิสระด้วยความเที่ยงธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และเป็นที่พึ่งกับประชาชนได้ สภาแห่งนี้จะเป็นหลักในการดำเนินการต่อชาติบ้านเมือง

 

พล.อ. เกรียงไกร กล่าวต่อว่า ความเชื่อมั่นต่อเพื่อนสมาชิกที่จะทำงานร่วมกัน สมาชิกแต่ละคนมาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และยึดมั่นในเกียรติ รับฟังความเห็นของสมาชิกทุกคน ในการดำเนินงานกิจการที่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาอย่างเท่าเทียมกัน เคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยที่เห็นต่างกัน พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินงานทุกอย่างให้วุฒิสภาเป็นที่เชื่อมั่น ยอมรับ และศรัทธาต่อพี่น้องประชาชน ให้ความสำคัญต่อกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

เพื่อให้วุฒิสภาแห่งนี้เป็นสภาอันทรงเกียรติที่มีเพื่อนสมาชิกร่วมกันจรรโลงความดีงาม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอันเป็นที่รักยิ่งต่อไป

 

ขณะที่นพดลกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า หากตนได้มาทำหน้าที่นี้แล้ว จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ปฏิบัติหน้าที่เอนเอียงไปตามกระแสสังคมหรือแรงกดดันทางด้านการเมือง ตนอยากเห็นการขับเคลื่อนการประชุมวุฒิสภาที่มีบรรยากาศของการประชุมที่ดี โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีในอดีต มาใช้ในที่ประชุมแห่งนี้

 

เพราะเชื่อว่าในที่ประชุมแห่งนี้นั้นสำคัญมาก เพราะครึ่งหนึ่งของชีวิตเรานั้นอยู่ที่บ้าน แต่อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่ที่ทำงานหรือก็คือที่ประชุมสภาแห่งนี้ ถ้าที่ประชุมสภามีความสุข การทำงานก็จะมีความสุข และเชื่อว่าสามารถทำงานร่วมกับท่านในที่นี้ เพื่อให้สภาเป็นที่ที่มีความสุข และเป็นสภาที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้

 

“มั่นใจมากว่าด้วยประสบการณ์ที่กระผมสะสมมา 40 ปีนั้น ผมเคยทำงานในภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เป็นนักวิชาการทำงานในภาคการเมืองนั้น กระผมจะสามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนวุฒิสภาไปพร้อมๆ กับมวลสมาชิกทุกท่าน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวุฒิสภา ประเทศชาติ และประชาชนได้เป็นอย่างดี…”

 

ด้าน ดร.ปฏิมา แสดงวิสัยทัศน์ว่า ขอเชิญชวนสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะได้รับเลือกจากกลุ่มอาชีพใดก็ตาม จังหวัดใดก็ตาม สีใดก็ตาม วันนี้พวกเรามานั่งประชุมครั้งแรกในที่แห่งนี้ ตนอยากจะเชิญชวนทุกท่านให้เป็นสีเดียวกัน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราเป็นสีเดียวกันคือ แดง ขาว น้ำเงิน เพราะเรารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

ดร.ปฏิมา กล่าวตอนหนึ่งว่า ก่อนที่ตนจะขึ้นมา ณ ที่นี้ ตนได้สอบถามกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า ถ้าตนจะชวนทุกท่านร่วมร้องเพลงชาติไทยพร้อมกันในห้องประชุมแห่งนี้ได้หรือไม่ เพราะเพลงชาติไทยมีความหมายที่ชัดเจนว่า เรารักสามัคคี รักความสงบ ถูกหรือไม่ ตนอยากให้พวกเราอย่าลืมว่า ตั้งแต่เราเกิดมา เราก็ร้องเพลงชาติไทยของเรา

 

“วันนี้เป็นวันแรกที่เราทำงานร่วมกัน เราไม่ควรให้มีความขัดแย้งกันในวุฒิสภา เราต้องช่วยกันสร้างเอกภาพในการบริหารบ้านเมือง หากรัฐบาลทำอะไรดี เราต้องสนับสนุนเขา แต่หากรัฐบาลหลงทาง เราก็ตักเตือนเขา เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ”

 

ปิดท้ายด้วย รศ.แล แสดงวิสัยทัศน์ว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งในรัฐสภาอันทรงเกียรติ วุฒิสภาเป็นสถาบันหนึ่งในกระบวนการการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องเน้นเสรีภาพของความหลากหลาย ความเท่าเทียม และความเป็นสากล ดังนั้นการทำงานของวุฒิสภาย่อมต้องรักษาหลักการ ทั้งความเป็นผู้นำและการปฏิบัติของสมาชิก

 

รศ.แล กล่าวต่อว่า ตนเองอยากเห็นผู้นำในรัฐสภารักษาองค์ประกอบความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศกำเนิดหรือเพศสภาพ สูงวัยหรืออ่อนวัย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา หรือชาติพันธุ์ ทั้งนี้ เพื่อธำรงความเป็นสากลของระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือจากความหลากหลายในระดับผู้นำองค์กร เพื่อให้สภาแห่งนี้สะท้อนมุมมองที่หลากหลายครบถ้วน จึงต้องช่วยกลั่นกรองกฎหมายให้กับสภาล่างด้วย

 

ตนอยากเห็นทุกเสียงของสมาชิก ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก หรือไร้กลุ่ม ต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการแสดงออก รวมถึงปัญหาของคนตัวเล็กที่ไร้เสียงด้วย เช่น แรงงาน ชาวนา ชาวประมง และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับความสำคัญไม่น้อยกว่าปัญหาอื่นที่จะได้รับการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising