วันนี้ (23 กรกฎาคม) ที่ห้องประชุมจันทรา ในการประชุมวุฒิสภาชุดที่ 13 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ที่มี พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี สมาชิกวุฒิสภาผู้มีอาวุโสสูงสุดในสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว เพื่อเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ โดยมีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่ มงคล สุระสัจจะ, นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ และ รศ. ดร.นันทนา นันทวโรภาส โดยแต่ละคนจะต้องแสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที และลงคะแนนเป็นการลับ
ล่าสุดผลการลงคะแนนมีดังนี้ มงคลได้ 159 คะแนน, เปรมศักดิ์ได้ 13 คะแนน และ รศ. ดร.นันทนา ได้ 19 คะแนน โดยที่มงคลได้คะแนนสูงสุดและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่เข้าประชุม จึงถือว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงคะแนนเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาคนที่ 13
เปิดวิสัยทัศน์ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา
เปรมศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานสภาหมายเลข 1 กล่าวว่า วุฒิสมาชิกมาจาก 20 สาขาอาชีพ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากถึงอาชีพที่มาที่ไม่ตรงปก รวมถึงมีการครอบงำจากบางกลุ่ม ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นผลดีต่อสมาชิกทั้ง 200 คน ตนจึงมุ่งมั่นที่จะอาสามาดำรงประธานวุฒิสภา เพื่อที่จะแก้ไขภาพลักษณ์ของวุฒิสภาให้เป็นสภาที่ทรงเกียรติ เป็นสภาที่ประชาชนคาดหวังได้
หากเรากลัดกระดุมผิดเม็ด มันจะผิดไปทั้งหมด เราต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน 5 ปีหลังจากนี้ หากเราเลือกที่จะเป็นกลาง ก็จะได้รับการชื่นชมจากประชาชนอย่างแน่นอน แต่หากเราเลือกอีกด้านหนึ่ง ก็จะถูกตราหน้าว่าสภาใบสั่ง สภาโหวต สภาหวยล็อก สภาล็อกโหวต
เปรมศักดิ์กล่าวต่อว่า กลไกสำคัญของวุฒิสภาคือการกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร นี่คือการตรวจสอบและควบคุมฝ่ายบริหาร โดยใช้กฎหมายที่มาจากผู้แทนราษฎร ไม่มีการชี้นำ ไม่ว่าจากพรรคการเมืองใด ประเด็นที่สอง องค์กรอิสระต้องไม่มีใบสั่งว่ามาจากบ้านไหนหรือผู้ยิ่งใหญ่คนใด องค์กรอิสระจะไร้ความหมาย เกิดปัญหาการยอมรับจากประชาชนอย่างที่ผ่านมา
ประเด็นที่สาม การตั้งกระทู้สดเป็นอาวุธสำคัญของ สว. ในการควบคุมการบริหารของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องตอบกระทู้สดด้วยตนเอง ไม่ใช่มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยมาตอบ ต้องยืนยันศักดิ์ศรีของวุฒิสภา ดำรงไว้ในการควบคุมรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ รศ. ดร.นันทนา สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานสภาหมายเลข 2 กล่าวว่า ภาพลักษณ์วุฒิสภาประชาชนไม่ไว้วางใจและไม่ศรัทธา เราจะฟื้นฟูภาพลักษณ์ของ สว. ยุคใหม่ ให้ประชาชนทั้งประเทศรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ สว. เราต้องยึดโยงกับประชาชนที่จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนของเราด้วยแนวทาง 5 ส. ได้แก่ สัมพันธ์ สื่อสาร สร้างสรรค์ สมดุล และสากล
- สัมพันธ์ ต้องยึดโยงกับประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม สร้างความรู้สึกผูกพัน เป็นเจ้าของ และสามารถรับฟังการประชุมสภาได้ ทุกข้อร้องเรียนจะนำไปสู่การแก้ไข เป็นวุฒิสภาเชิงรุก
- สื่อสารการทำงานของ สว. ผ่านถ่ายทอดสดการประชุมสภาและการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ จัดแถลงผลการทำงานและตอบทุกคำถามของสื่อมวลชน ยึดหลัก สว. รู้อะไร ประชาชนรู้อย่างนั้น
- สร้างสรรค์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยใช้เวทีถกเถียงประเด็นปัญหาสังคม สะท้อนปัญหา และต้องได้ข้อยุติ มีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองทุกระดับ ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาล มาให้ปากคำ ตอบกระทู้ โดยให้ความเคารพต่อสถาบัน และไม่เบี่ยงหลบเลี่ยงเช่นที่ผ่านมา
- สมดุล เปิดกว้างให้กับทุกศาสนา ความหลากหลายทางเพศ ทุกเชื้อชาติ โดยไม่กีดกันแบ่งแยก สภาคือพื้นที่แห่งความเท่าเทียมกัน ทุกคนมีส่วนร่วมกับสภา
- สากล องค์กรระดับประเทศต้องมีระเบียบ เป็นประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล เป็นแบบอย่างประเทศในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก
รศ. ดร.นันทนา กล่าวว่า การตัดสินใจของสมาชิกจะเป็นการชี้อนาคตของวุฒิสภา เป็นตำนานในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ทุกพื้นที่ของรัฐสภาเป็นการเปลี่ยนแปลง 5 ปี จะไม่สูญเปล่า แต่จะเป็นสภาแห่งความหวัง สภาความศรัทธา มาร่วมทำให้วุฒิสภายุคใหม่เป็นสภาของประชาชน เป็นหนึ่งในเสาหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปิดท้ายด้วยมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานสภาหมายเลข 3 ได้แสดงวิสัยทัศน์โดยขอบคุณสมาชิกที่เสนอชื่อตน นับตั้งแต่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งปลัดอำเภอ ตนสำนึกว่าแผ่นดินนี้ได้ให้โอกาสมากมาย จึงตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดิน รับใช้ประชาชน รักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
มงคลกล่าวว่า ตนยึดมั่นมาตลอดว่าจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ซึ่งการทำงานของวุฒิสภาโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมาจะนำไปสู่สิ่งนั้นได้ จึงอยากเห็นสังคมไทยและคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน เห็นต่างได้ แต่ต้องไม่สร้างความแตกแยก เราจะเริ่มต้นจากความเป็นหนึ่งเดียวของวุฒิสภา
“ชีวิตผมมาจากก้อนดินก้อนทราย เป็นเด็กวัด เรียนอาชีวะ จึงเข้าใจความยากจนข้นแค้น ความเป็นคนไม่มีเส้นไม่มีสาย ผมเติบโตมาในระบบราชการด้วยการทำงานอย่างหนัก เต็มความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการประสานงานกับพี่น้องประชาชน คลุกคลีกับพี่น้องประชาชนทั้งในชนบทตลอดชีวิต เกษียณอายุราชการก็ไปทำไร่ในชนบท” มงคลกล่าวทิ้งท้าย