วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาและลงมติในประเด็นคดีและฐานความผิดที่จะรวมไว้ในการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 110
หลังการประชุม ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ แถลงข่าวร่วมกับ นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษา เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรนิรโทษกรรมการกระทำหรือเหตุที่มีแรงจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน และมีบทนิยามชัดเจนว่า ความผิดที่เกี่ยวกับแรงจูงใจทางการเมืองมีอะไรบ้าง
ส่วนความผิดต่อชีวิต ความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น กรณีความผิดตามมาตรา 288 และ 289 จะไม่นิรโทษกรรม เพราะเป็นเรื่องการประทุษร้ายต่อชีวิต ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อรัฐฝ่ายเดียว ทำให้ผู้คนล้มตาย
ขณะที่ความผิดตามมาตรา 110 และ 112 คณะกรรมาธิการเห็นว่าเป็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมาธิการเป็นเพียงการศึกษาหาแนวทางตรากฎหมาย จึงมีมติว่าจะไม่โหวต โดยส่งความเห็น 3 ประการต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
- ไม่ควรนิรโทษกรรมในมาตรา 110 และ 112 พร้อมระบุเหตุผล
- เห็นควรนิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข
- เห็นควรนิรโทษกรรม แต่มีเงื่อนไข ซึ่งอาจตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการเห็นตรงกันว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่ศึกษา จึงควรส่งความเห็นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่ไม่ปิดกั้นความเห็นของฝ่ายใด และมอบหมายให้นิกรทำรายงานเพื่อสรุปผลภายในวันพุธหน้า (24 กรกฎาคม) และคาดว่าจะส่งรายงานฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรทันภายในสิ้นเดือน
อย่างไรก็ตาม เรื่องฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 เปิดให้ทุกฝ่ายลงความเห็นครบถ้วน โดยยืนยันว่าความเห็นทั้งหมดจะถูกส่งเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร น่าจะมีบทสรุปที่ดีในการออกกฎหมาย
ขั้นตอนต่อไป สส. แต่ละพรรคการเมืองจะนำข้อมูลและข้อเสนอ ทั้งที่มีเอกภาพและความเห็นต่างลงในร่างกฎหมายแบบฉบับของตนเอง ส่วนตัวมองว่าข้อเสนอที่จะส่งต่อสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญ เพราะการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 มีข้อถกเถียงพอสมควร
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการยอมรับว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยลงรายละเอียดตัวอย่างการกำหนดเงื่อนไข และมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำน่าจะเป็นข้อดี ถือเป็นข้อเสนอใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย ทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้พิจารณายอมรับกันได้
ยกตัวอย่างก่อนการได้รับพิจารณาว่าควรจะนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาจะต้องแถลงข้อเท็จจริง หาแรงจูงใจทางการเมืองและผู้อยู่เบื้องหลัง พร้อมกับเปิดโอกาสให้คู่กรณีหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ อาจกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ อย่างการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง การกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลากี่ปี และการเข้ารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ก่อนจบการแถลงข่าว ชูศักดิ์ยืนยันว่าการประชุมวันนี้เป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล และไม่มีการทุบโต๊ะ
ย้อนบันทึกประชุม มีมติให้ไม่ลงมติ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม จากบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในครั้งนั้นประธานคณะกรรมาธิการกล่าวว่า หากที่ประชุมคณะกรรมาธิการไม่สามารถหาข้อสรุปประเด็นความผิดในคดีมาตรา 112 ได้ อาจมีข้อเสนอแยกให้ชัดเจนว่าการนิรโทษกรรม หรือการไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ประธานคณะกรรมาธิการฯ ยังชี้ว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงสามารถมีข้อเสนอของฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมไว้ในรายงานของคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ทำให้ เอกชัย ไชยนุวัติ กรรมาธิการฯ และศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 เห็นด้วย เพราะอำนาจการตัดสินใจเป็นของที่ประชุมสภา
ด้าน ไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 4 เสนอว่า การหาข้อสรุปประเด็นสำคัญ อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ควรมีข้อเสนอเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมาธิการ และการมีข้อเสนอเป็นสองแนวทางเป็นประโยชน์ต่อการร่าง พ.ร.บ.มากกว่า
ดังนั้น ในการประชุมครั้งถัดไปควรกำหนดประเด็นในการพิจารณาให้ชัดเจนว่า เป็นการพิจารณาฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ประกอบด้วยฐานความผิดใด และยกเว้นฐานความผิดใด รวมถึงมีข้อดีข้อเสียอย่างไร