วันนี้ (15 กรกฎาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการประชุมหารือประเด็นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2567 โดยระบุว่า ในการประชุม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยพิจารณาทบทวนปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตให้กลับไปที่ 5% อีกครั้ง เนื่องจากมองว่าคนกำลังลำบาก ส่วนเรื่องวินัยให้ค่อยๆ แก้อีกที โดยต่อจากนี้ตัวแทน ธปท. จะนำกลับไปพิจารณาโดยด่วน
ก่อนหน้านี้ ธปท. กำหนดเกณฑ์อัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตไว้ที่ 10% แต่ปรับลดลงเหลือ 5% สำหรับปี 2565 และปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8% เมื่อต้นปี 2567 ก่อนจะเตรียมปรับกลับไปสู่อัตรา 10% ในปี 2568
พิชัยยังกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีบัตรเครดิตรวมกันทั้งหมด 24 ล้านใบ โดยจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย (NPL) ไปแล้ว 1.1 ล้านใบ และกำลังเป็นหนี้เสียอีก 2 แสนใบ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านบัตรเครดิตอยู่แล้ว ผ่านคลินิกแก้หนี้ ที่จะยืดระยะการผ่อนชำระให้นานขึ้น และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3-5% โดยไม่สร้างหนี้เพิ่มเติม ซึ่งในการประชุมวันนี้ รัฐบาลจึงฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยประสานงานกับบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ให้กลับมาแนวทางนี้มากขึ้น
พิชัยกล่าวอีกว่า “เศรษฐกิจไทยค่อนข้างตกต่ำ และการฟื้นตัวก็ไม่ทันใจ โดยปัญหาหนักอกที่สุดคือ หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจขนาดย่อม ถ้าแก้ได้แล้วหนี้รัฐจะเพิ่มเล็กน้อยก็รับได้ วันนี้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจจึงเน้นไปที่การแก้หนี้ครัวเรือน”
โดยนอกจากหนี้บัตรเครดิตและหนี้อุปโภคบริโภคแล้ว พิชัยยังกล่าวว่า หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยคือหนี้รถและหนี้บ้าน โดยกระทรวงการคลังก็มีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยหนี้บ้านประมาณ 34 % ของหนี้ทั้งหมด เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหา
ปัจจุบันมีหนี้ของลูกค้า ธอส. ที่ไม่ชำระคืนได้ประมาณ 8 หมื่นกว่าราย และธนาคาร ธอส. ได้ทำคลินิกแก้หนี้ ซึ่งในขณะนี้มีคนเข้ามาพูดคุยกับ ธอส. แล้ว 5 หมื่นกว่าราย
นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการอยากให้นำรูปแบบการช่วยเหลือของ ธอส. ไปพูดคุย และขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น และให้ลูกหนี้กลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดีของธนาคารพาณิชย์ได้ในอนาคต ซึ่งในที่ประชุมวันนี้มีธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย จึงฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย