เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากราคาทองคำได้รับแรงหนุนจนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,388 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำไม่สามารถรักษาการเคลื่อนไหวบริเวณระดับดังกล่าวได้ จากการถูกกดดันด้วยแรงขายทำกำไร การปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการจ้างงานแรงงานนอกภาคการเกษตรเดือนพฤษภาคมที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์หลายฝ่าย
อีกประการหนึ่งคือ นักลงทุนตอบสนองเชิงลบต่อรายงานการหยุดเข้าซื้อทองคำสำรองของธนาคารกลางจีน (PBOC) ในเดือนพฤษภาคม หลังเข้าซื้อมาอย่างต่อเนื่อง 18 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 อันอาจทำให้ความต้องการซื้อทองคำสุทธิของกลุ่มธนาคารกลางไตรมาส 2 ปี 2024 นั้นปรับตัวลง เนื่องด้วย PBOC ถือเป็นกำลังซื้อทองคำหลักของกลุ่มดังกล่าว
นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่า เหตุผลสำคัญของการหยุดซื้อทองคำสำรองของจีนเป็นผลมาจากราคาทองคำปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง โดยชี้ว่าจีนมีแนวโน้มกลับเข้ามาซื้อทองคำเช่นเดิมในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวลง สอดคล้องกับ เดวิด เทต ผู้บริหารระดับสูงของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ที่ให้ความเห็นว่า PBOC อาจเข้ามาซื้อทองคำอีกครั้ง หากราคาทองคำปรับตัวลงสู่ระดับ
2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้ แม้การเข้าซื้อทองคำของ PBOC อาจชะงักไปสักระยะ แต่ยังมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มการถือครองทองคำอย่างต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา สอดคล้องกับแนวโน้มการถือครองทองคำสำรองที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก
โดยผลการสำรวจความคิดเห็นธนาคารกลางในปี 2024 ของ WGC ได้ระบุว่า ธนาคารกลางราว 69.0% ให้ความเห็นว่าพวกเขาจะเพิ่มการสำรองทองคำขึ้นในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งแบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่ระดับปานกลางและระดับสูง ราว 66.0% และ 3.0% ตามลำดับ
รายละเอียดของผลการสำรวจที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ สัดส่วนของธนาคารกลางที่ต้องการเพิ่มการสำรองทองคำในอีกระยะ 5 ปีข้างหน้านั้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ระดับ 46% ในปี 2022 สู่ระดับ 62.0% และ 69.0% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ บ่งชี้ถึงความต้องการซื้อทองคำของกลุ่มธนาคารกลางที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาที่ปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันให้ธนาคารกลางตัดสินใจถือครองทองคำนั้นคือ คุณสมบัติของการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของทองคำ ที่สามารถป้องกันการเสื่อมค่าจากภาวะเงินเฟ้อ สามารถรักษามูลค่าในช่วงการเกิดวิกฤต และสามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการไม่มีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระ เป็นต้น
โดยปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นมีผลทั้งกับธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ดี จากการเปรียบเทียบผลสำรวจระหว่างปี 2024 และ 2023 นั้นสะท้อนว่า
ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วให้ความสนใจในการถือครองทองคำในแง่ของสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นในปี 2024 ขณะที่ในปี 2023 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการถือครองทองคำของธนาคารกลางกลุ่มดังกล่าวสูงสุดคือ ระดับการถือครองทองคำที่มีอยู่ก่อนแล้ว (Historical Position)
ประเด็นข้างต้นนี้นับว่ามีความสำคัญ เนื่องด้วยในช่วงก่อนหน้านี้ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วถือเป็นกำลังซื้อหลัก ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงถึงน้ำหนักในปัจจัยที่มีผลต่อการถือครองทองคำของธนาคารกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเช่นนี้ อาจมีส่วนเพิ่มระดับความต้องการซื้อทองคำของกลุ่มธนาคารกลางให้สูงขึ้นจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นต่อสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ที่พบว่า 57% ของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อาจเพิ่มสัดส่วนทองคำขึ้นไปที่ราว 17-25% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่สัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศโดยเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารกลางอยู่ที่16.0% อีกทั้งธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนานั้นยังคงรักษาแนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ โดย 71% ของธนาคารกลุ่มดังกล่าวนี้ประเมินการเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 17-25% ขณะที่ 4.0% ประเมินถึงการเพิ่มขึ้นไปเหนือระดับ 25.0% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า หากธนาคารกลางทั่วโลกยกระดับการเข้าซื้อทองคำจาก 1,000 ตันต่อปี สู่ระดับ 2,000 ตันต่อปี ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นถึงระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในปี 2025
อย่างไรก็ดี แม้ในปีนี้การเข้าซื้อทองคำอาจไม่ผ่านระดับเป้าหมายดังกล่าว อันเป็นผลจากราคาทองคำที่อยู่ในระดับสูง แต่แนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของกลุ่มธนาคารกลางนับเป็นการเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางราคาทองคำในระยะกลางถึงยาว จากพื้นฐานของแรงซื้อที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาพ: Lemon_tm / Getty Images