เว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ปี 2024 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายและวัดใจบรรดาผู้ประกอบการทั่วสหรัฐฯ ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่หลายรายในขณะนี้ได้ล้มหายตายจากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 มีบริษัทถึง 346 แห่งที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเลิกกิจการ หรือขอปรับโครงสร้างองค์กรผ่านกรอบร่างกฎหมายล้มละลาย ทำสถิติเป็นระดับครึ่งปีสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งมีบริษัทยื่นฟ้องล้มละลายถึง 467 แห่ง ขณะที่เฉพาะในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีบริษัท 75 แห่งที่ถูกฟ้องล้มละลาย กลายเป็นยอดรวมรายเดือนที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2020
บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หลายสำนักแสดงความเห็นกับทาง CNN ว่า ธุรกิจที่พังทลายลงส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อิงกับ ‘ดุลยพินิจของผู้บริโภค’ หรือ Consumer Discretionary ซึ่งหมายถึงสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นหลัก กล่าวคือเป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคต้องมีเงินเหลือใช้เหลือจ่ายเหลือเฟือ เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ของธุรกิจเหล่านี้คือ SMEs
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า สถานการณ์ติดขัดในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 25 ปีของสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงกดดันผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมอย่างหนักเพื่อซื้ออุปกรณ์ เติมสินค้าคงคลัง ดำเนินการตามบัญชีเงินเดือน และ/หรือขยายการดำเนินงาน และด้วยเหตุผลสำคัญบางประการ การเข้าถึงสินเชื่อจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นได้ นอกจากนี้ SMEs ยังเผชิญกับภาวะยากลำบากมากขึ้นในการขอสินเชื่อธุรกิจ โดยการสำรวจล่าสุดของ Federal Reserve Bank of Kansas City เกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็ก 170 แห่งแสดงให้เห็นว่า ‘มาตรฐานสินเชื่อของสหรัฐฯ ในเวลานี้มีความเข้มงวดขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10 ติดต่อกัน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อกลับลดลง’
สถานการณ์ของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ดูจะมีแนวโน้มเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เห็นได้จากความต้องการของผู้บริโภคจนถึงตอนนี้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้จากการสำรวจล่าสุดของสถาบันการจัดการอุปทาน (Institute for Supply Management) เกี่ยวกับธุรกิจที่ขายบริการทุกประเภท ซึ่งพบว่าข้อมูลการใช้จ่ายและความคิดเห็นล่าสุดจากผู้ค้าปลีกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่ได้ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายในช่วงฤดูร้อนนี้ แตกต่างจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด แถมยังหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นแทน
สำหรับเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในเป็นหลักอย่างสหรัฐฯ บวกกับช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงพีคสำคัญสำหรับภาคธุรกิจบริการทุกประเภท แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในขณะนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างมาก โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา S&P Global รายงานว่า มีบริษัทธุรกิจด้านเกมอาร์เคดและความบันเทิงต่างๆ รวมถึงบริษัทบริหารจัดการโรงแรมแห่งหนึ่งได้ยื่นขอล้มละลายด้วยเหตุผล ‘ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน’
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งแย้งว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ลางบอกเหตุของความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจในอนาคต แต่อาจเป็นเพียงการคลี่คลายของการบิดเบือนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดระบาด โดย Josh Jamner นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนของ ClearBridge Investments อธิบายว่า สถานการณ์ในปัจจุบันน่าจะเป็นการปรับฐานเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับสู่มาตรฐานตามที่ควรจะเป็น หลังจากช่วงโควิดที่ผ่านมามีโครงการสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ของภาครัฐเกิดขึ้นมากมาย ขณะที่ในช่วงปี 2021-2022 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตโควิดกำลังคลี่คลาย มีตัวเลขการยื่นขอล้มละลายน้อยลงจากปกติอย่างเห็นได้ชัด
Jamner ชี้ว่า การล้มละลายขององค์กรที่เพิ่มขึ้นอาจสะท้อนถึงความปั่นป่วนมากมายที่เกิดขึ้นจากนโยบายชั่วคราวที่ภาครัฐงัดขึ้นมาใช้ในเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงช่วยผู้ประกอบการรายย่อยในช่วงเวลานั้นให้สามารถประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิดมาได้ แต่ยังส่งผลให้มีการเปิดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ตัวเลขสถิติของรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า ปีที่แล้วมีผู้สมัครเพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่ถึง 5.5 ล้านราย กระนั้นอัตราดังกล่าวเริ่มจะชะลอตัวลงในปี 2024 บ้างแล้ว ซึ่ง Jamner ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ กำลังจะปิดตัวลง แต่เจ้าตัวและทีมนักวิเคราะห์ก็ยังคงเห็นธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากมาย
ด้าน Reena Aggarwal ผู้อำนวยการศูนย์ Psaros สำหรับตลาดการเงินและนโยบายของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเมินว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แสดงจุดยืนที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี หลังจากที่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 23 ปี ติดต่อกันนานร่วม 1 ปี น่าจะช่วยทำให้ตลาดผ่อนคลายลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าตัวเลขที่ตัดลดลงไปจะไม่ใช่สัดส่วนที่มากมายนักก็ตาม โดยย้ำว่า การลดอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญกับภาคธุรกิจมากพอๆ กับที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในเชิงจิตวิทยาที่ทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและผ่อนคลายที่จะกลับมาลงทุนและใช้จ่ายกันอีกครั้ง
อ้างอิง: